xs
xsm
sm
md
lg

3 วิธีเพิ่ม “น้ำนม” แม่หลังคลอด นวด-อาหาร-ยาสมุนไพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมแพทย์แผนไทย แนะวิธีเพิ่มบำรุงน้ำนมเลี้ยงลูก ทั้งนวดประคบเต้านม อาหารเพิ่มน้ำนม ชูแกงเลียงเมนูยอดฮิต และยาประสาน้ำนม จากสมุนไพร 5 ชนิด มะตูม ฝาง ขิง ชะเอม เถาวัลย์เปรียง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า แม่หลังคลอดบางรายประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำนมไม่ไหลหรือน้ำนมไหลช้าไม่เพียงพอ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การผ่าคลอด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะโภชนาการของแม่ รวมถึงแม่มือใหม่ที่ให้ลูกดูดนมแบบผิดวิธี ทำให้น้ำนมไหลช้า ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ยุติการให้นมลูกในระยะเริ่มแรก ทั้งนี้ ภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดมาช้านานและมีการพัฒนาศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แก่แม่หลังคลอดในการเพิ่มปริมาณน้ำนม กระตุ้นให้มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกได้เพียงพอ คือ

1.การนวดและประคบเต้านม เพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนมและช่วยคลายเครียดของแม่หลังคลอด

2.อาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนม เพราะแม่หลังคลอดต้องมีสารอาหารที่ครบถ้วนเผื่อลูกน้อยผ่านน้ำนมแม่ ซึ่งอาหารที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อแม่หลังคลอด คือ โปรตีนจากไก่ ปลา เนื้อ นม ผสมผักพื้นบ้านอาหารเป็นยาบำรุงกระตุ้นน้ำนมแม่ ได้แก่ เมนูที่มีส่วนประกอบของพริกไทย ขิง หัวหอม หัวปลี ฟักทอง แมงลัก กล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าปิ้ง เป็นต้น ถ้าเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทยตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน คือ แกงเลียง เหล่านี้ล้วนเป็นวิถีชีวิตแบบธรรมชาติที่สามารถทำได้เอง คุณแม่หลังคลอดต้องใส่ใจในเรื่องการบำรุงตัวเองด้วยอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน

3.ยากระตุ้นน้ำนม แนะนำชาชงสมุนไพรบำรุงน้ำนม ซึ่งเป็นสูตรยาบำรุงน้ำนมของโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วย ตัวยา 5 ชนิด คือ มะตูม ฝาง ขิง ชะเอม เถาวัลย์เปรียง ซึ่งมีผลในการเพิ่มปริมาณน้ำนม จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ชาชงสมุนไพรบำรุงน้ำนม มีผลในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณเต้านม มีฤทธิ์ในการลดความเครียด และลดความเจ็บปวดหลังคลอดได้อีกด้วย เพราะฤทธิ์ต้านการอักเสบของสมุนไพร ตำรับยาบำรุงน้ำนมนั้น จะแตกต่างกันไปตามการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น และปัจจุบันมีการนำเอาตำรับยาบำรุงน้ำนมหลายขนานเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งแล้ว เป็นการนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่การใช้ประโยชน์ในสถานบริการของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น