xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย!! เปิดสาเหตุพ่อแม่ป้อน “น้ำ” ให้ทารก ย้ำห้ามทำเสี่ยงขาดสารอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พ่อแม่ให้ทารกก่อน 6 เดือนกินน้ำเปล่าถึง 86% ส่วนใหญ่ให้เพื่อล้างปาก ป้องกันอาการตัวเหลือง ลิ้นเป็นฝ้า คิดว่าเด็กคอแห้ง มีอาการสะอึก เสี่ยงกินนมแม่น้อยลง ขาดสารอาหาร ย้ำให้กินนมแม่อย่างเดียว

กรมอนามัย เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการให้น้ำเปล่าแก่ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ว่า มีผลการศึกษาช่วงเวลาและปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหรืออาหารอื่น เมื่อปี 2559 ในกลุ่มแม่และผู้ดูแลหลักของทารกและเด็กเล็กอายุ 0-ปี จำนวน 1,147 คน จาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า อาหารอื่นที่ทารกได้กินมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก คือ น้ำเปล่า โดยแม่หรือผู้ดูแลหลักของทารกและเด็กเล็ก ร้อยละ 86.4 เคยให้ทารกกินน้ำในช่วงก่อนอายุ 6 เดือน โดยเหตุผลหลักที่ให้ทารกกินน้ำเปล่าก่อนอายุครบ 6 เดือน คือ

1.เพื่อล้างปาก ร้อยละ 55 2.คิดว่าการกินน้ำเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 21.7 3.ผู้ดูแลให้กิน ร้อยละ 15.6 4.ทำให้ทารกไม่มีอาการตัวเหลือง ร้อยละ 10.7 5.ช่วยระบบขับถ่าย ร้อยละ 10.1 6.ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ร้อยละ 5.9 7.คิดว่าทารกอาจหิวน้ำ คอแห้ง ร้อยละ 4.1 8.ทารกกินนมผสม ร้อยละ 3.7 9.ป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า ร้อยละ 2.7 10.ให้กินน้ำเมื่อมีอาการสะอึก ร้อยละ 2.7 11.ได้รับคำแนะนำจากหมอ พยาบาล ร้อยละ 2.1 12.คิดว่าการกินน้ำบำรุงสายตา ร้อยละ 2 13.มีคนแนะนำ ร้อยละ 2 14.ทารกกินยา ร้อยละ 1.9 15.ทารกเริ่มกินอาหารแล้ว ร้อยละ 1.6 และ 16.อื่นๆ ร้อยละ 4.3

สำหรับอันตรายจากการให้ทารกกินน้ำก่อนอายุ 6 เดือน คือ กินนมแม่ได้น้อยลง ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นจากการกินนมแม่ลดลงถึงขั้นขาดสารอาหาร มีโอกาสท้องร่วงหรือติดเชื้อจากน้ำที่สะอาดไม่เพียงพอ ทำให้แม่น้ำนมลดลง หากให้ลูกกินน้ำแทนนมแม่ ส่วนวิธีให้ลูกกินอย่างถูกต้องก่อนอายุ 6 เดือน คือ 1.ให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่น เพราะนมแม่มีน้ำผสมอยู่มากกว่า 80% ลูกจึงได้สารอาหารที่จำเป็นและน้ำเพียงพอจากการกินนมแม่อย่างเดียว 2.เมื่อลูกสะอึก ปากแห้ง เหมือนหิวน้ำ ให้นมแม่แทนให้น้ำ 3.เมื่อลูกป่วยต้องกินยา ให้ลูกกินยา วิตามินในช่วง 6 เดือนแรกได้ตามจำเป็น 4.หากลูกจำเป็นต้องกินนมผง ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่ม และ 5.ลิ้นเป็นฝ้า ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารก ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ลดอัตราการเสียชีวิต พัฒนาระดับสติปัญญา ปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 40 ส่วนประเทศไทยตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 23 สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีหลายประการ ได้แก่ แม่ต้องกลับไปทำงานก่อน 6 เดือน แม่เชื่อว่าน้ำนมไม่พอ หรือแม่เข้าใจผิดคิดว่านมแม่มีสารอาหารไม่เพียงพอ

พญ.อัมพร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ 4 กระทรวง พัฒนาศักยภาพเด็กไทย สร้างคนไทย 4.0 มีสุขภาพดี สติปัญญาดี แข็งแรง มีทักษะสูง และมีจิตใจที่งดงาม ดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ถึงคลอด และเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นช่วงที่ 2 ของ 1,000 วันแรก นับตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน เป็นช่วงที่ร่างกายและสมองของเด็กเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การได้รับนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต การโอบกอดและเล่นกับลูกส่งผลให้ลูกเจริญเติบโตดี มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์ดี ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของชีวิต ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2568

“ในการที่จะให้แม่ประสบความสำเร็จในการลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ต้องเตรียมพร้อมแม่ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ และระยะหลังคลอด ได้แก่ 1.ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของนมแม่ มีคุณค่าทางอาหาร ป้องกันการติดเชื้อ ทำให้รูปร่างของแม่กลับมาสวยเหมือนเดิม ป้องกันการเกิดมะเร็งสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก 2.ความรู้เรื่องขั้นตอนในการให้นมแม่ โดยเริ่มให้ลูกดูดนมโดยเร็วตั้งแต่หลังคลอดภายใน 30 นาที เพื่อให้น้ำนมออกเร็ว ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ในวันแรกคือ 8-12 ครั้ง และให้ลูกดูดนมให้ถูกวิธี คือให้ลูกอมหัวนมให้ถึงลานนม สามารถป้องกันการเกิดนมคัดหรือหัวนมแตกได้ 3.ความรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์ต่อแม่ในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูก 4.ให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลในครอบครัวเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจ และ 5.ตรวจหาความผิดปกติของเต้านม หัวนม และลานหัวนม” พญ.อัมพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น