เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติปีนี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เปิดตัวแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ พร้อมจัด เสวนาพิเศษ “Mom Means Business” เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดมุมนมแม่ให้กับพนักงานหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ให้สามารถจัดเก็บน้ำนมระหว่างวันเพื่อนำกลับไปให้ลูกกินที่บ้านได้
องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น แต่ในประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี พ.ศ. 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีทารกเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่หยุดให้นมแก่ลูก คือ การต้องกลับไปทำงาน โดยที่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ยังขาดนโยบายที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มุมนมแม่ ที่จะเอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้
นายฮวน แซนแทนเดอร์ รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้กล่าวในงานเสวนาว่า การได้กินนมแม่คือการเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุดของเด็ก เพราะนมแม่ปกป้องเด็กจากการเจ็บป่วย และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา และมีผลต่อไอคิวของเด็กและความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันทำให้แม่ออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายไทยให้สิทธิแม่ลาคลอดได้เพียง 90 วันเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่แม่จะเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและคนรอบข้างเป็นสำคัญ การได้รับการสนับสนุนจากที่ทำงาน ทั้งจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แม่ที่ต้องกลับไปทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานขึ้น” นายแซนแทนเดอร์ กล่าว
ปัจจุบันการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานถือเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับองค์กรชั้นนำทั่วโลก ซึ่งการเสวนาในหัวข้อ “Mom means business” ครั้งนี้ มีผู้บริหารรุ่นใหม่จากองค์กรที่ใส่ใจความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด คุณนาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) คุณสิรินทรา มงคลนาวิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวางแผนองค์กรและพัฒนาความยั่งยืน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ คุณหนูดี วนิษา เรซ Friend of Unicef และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมองของเด็ก มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และคำแนะนำในการสนับสนุนแม่ทำงาน
การเสวนาเริ่มจากการเล่าถึงที่มาของการจัดมุมนมแม่ให้กับพนักงาน การทำความเข้าใจกับพนักงานและผู้บริหารให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งเสียงตอบรับจากพนักงานที่กำลังให้นมบุตรที่ได้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การจัดมุมนมแม่ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นสิ่งที่ใช้งบประมาณน้อยมาก แต่ละองค์กรสามารถจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามการใช้งานและสุขอนามัย สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากมุมนมแม่ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้กับทารก สร้างสายใยความผูกพันระหว่างแม่กับลูกและครอบครัวแล้ว ผลลัพธ์สำคัญที่สถานประกอบการต่างๆ จะได้รับ คือ แม่ลาหยุดน้อยลง รู้สึกดีกับองค์กร ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ อัตราการลาออกของพนักงานที่เป็นแม่ลดลง และยังลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของบุตรพนักงานอีกด้วย
นอกจากนี้ การรณรงค์แคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ ยังได้ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด โดย คุณวรวุฒิ วาริการ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ร่วมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดมุมนมแม่ ให้แก่ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรต่างๆ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับในระยะยาวอีกด้วย
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมสนับสนุนแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ ด้วยการแชร์คลิปวิดีโอ https://bit.ly/2vPKJHV และกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย และเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ในสังคม สะท้อนให้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขององค์กรต่อไป โดยสามารถติดตามข่าวสารแคมเปญนี้ ได้ที่ Facebook: UNICEF Thailand สำหรับองค์กรใดที่สนใจต้องการทราบรายละเอียดหรือคำแนะนำในการเริ่มต้นจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.unicef.or.th/breastfeeding/workplace