กรมการแพทย์ เตือน อย่าให้ทารกก่อน 6 เดือนกินน้ำเปล่า เหตุทำกินนมแม่น้อย เสี่ยงขาดสารอาหาร กระทบพัฒนาการ ย้ำ กินนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องให้อาหารอื่น
นพ.ปานเนตร ปางพุฒพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พ่อแม่หลายคนมักเข้าใจว่า ควรป้อนน้ำตามหลังทารกกินนมเสร็จแล้ว แต่ความจริงกระเพาะของทารกยังเล็กมาก การให้ลูกกินน้ำตามเข้าไปจะทำให้น้ำเข้าไปแทนที่นมในกระเพาะ ลูกจะอิ่ม และไม่อยากกินนม ทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง และได้รับประโยชน์จากนมแม่น้อย เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการล่าช้า อีกทั้งระบบทางเดินอาหาร ยังไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมอาหารอย่างอื่นนอกจากน้ำนมแม่ได้ อาจส่งผลให้ท้องอืดและปวดท้องได้ ในนมแม่ มีสารที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อราในช่องปาก ทารกที่กินนมแม่ จึงไม่ต้องกลัวว่าฝ้าขาวในช่องปากเป็นจากเชื้อรา ส่วนใหญ่ เป็นเพียงคราบนม ให้ทำความสะอาดช่องปากทารกวันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ การให้ทารกกินน้ำในระยะ 6 เดือนแรกยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคท้องเสียที่เกิดจากน้ำหรือภาชนะที่ไม่สะอาดด้วย
พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ทารกแรกเกิดในช่วง 6 เดือนแรก กินนมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอ เนื่องจากในนมแม่มีน้ำมากกว่าร้อยละ 80 การที่ลูกได้กินนมแม่วันละ 6-8 มื้อ ลูกจะได้รับสารอาหารและน้ำเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ โอกาสที่ทารกจะเกิดภาวะขาดน้ำเป็นไปได้น้อยมาก ไม่ว่าอากาศจะร้อนเพียงใด ก็ไม่จำเป็นต้องกินน้ำเสริม ยิ่งไปกว่านั้น พบว่า ทารกบางรายที่ได้รับน้ำมากเกินไป มีปัญหาเกลือแร่ในร่างกายต่ำ มีอาการซึม เบื่ออาหาร และป่วยตามมาได้ เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ร่างกายเริ่มต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น สามารถให้ทารกรับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย โดยอาหารเหล่านี้จะทำให้ทารกต้องการปริมาณน้ำมากขึ้นสำหรับการกลืนและย่อย ดังนั้น จึงให้ลูกดื่มน้ำได้บ้าง แต่ไม่ควรให้มากเกินไป เพราะอาจทำให้ปริมาณการกินนมแม่ลดลงอย่างไรก็ตาม น้ำนมแม่ก็ยังเป็นอาหารหลักของลูกจนถึงอายุ 12 เดือน