สธ.ร่วมราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ฯ รณรงค์ตรวจคัดกรองการได้ยิน “ทารกแรกเกิด” นำร่องใน รพ.จังหวัดทั่วประเทศ ค้นหาเด็กบกพร่องทางการได้ยิน ชี้หากค้นเจอและรักษาก่อนอายุ 6 เดือน ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต มีพัฒนาการเท่าเด็กทั่วไป ชวนพ่อแม่พาลูกเข้ารับการตรวจ พร้อมเผย 10 อาการเสี่ยงทารกมีปัญหาการได้ยิน
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี ในการแถลงข่าวเปิดโครงการรณรงค์การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอด โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมของเด็ก โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต พบได้ 3-5 คน ในทารกปกติ 1,000 คน และสูงถึง 3-5 คนในทารกกลุ่มเสี่ยง 100 คน สธ.จึงร่วมกับราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการรณรงค์ “การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอด” เพื่อค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้เข้าถึงบริการรักษา โดยจัดบริการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกคลอดด้วยวิธีการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic emission ; OAE) ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานไม่ซับซ้อน ในโรงพยาบาลระดับจังหวัดทุกแห่ง หากพบว่า มีภาวะบกพร่องทางการได้ยินจะส่งต่อเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป โดยอนาคตจะขยายไปสู่โรงพยาบาลขนาดเล็ก ขณะที่ รพ.เอกชนบางแห่งมีบริการเช่นนี้แล้ว ก็จะมีการเชิญชวนต่อไป
“ภาวะบกพร่องทางการได้ยินจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในด้านภาษา การเรียนรู้ การเรียน การทำงาน ซึ่งหากสามารถตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคประสาทหูเสื่อมได้ก่อนอายุ 6 เดือน และได้รับการรักษา เช่น การผ่าตัดประสาทหูเทียม การใส่เครื่องช่วยฟัง การแก้ไขฟื้นฟู ฝึกพูด ฝึกฟัง จะสามารถมีพัฒนาการด้านต่างๆ เท่าทันเด็กทั่วไป สุขภาพจิตและอารมณ์ก็จะดีไปด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนพาบุตรแรกคลอดที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง หรือหากมีอายุ 1 ปีแล้ว สงสัยว่ามีปัญหาการได้ยิน เช่น เรียก พ่อ แม่ไม่ได้ ไม่หันหน้าตามเสียงเรียก ขอให้รีบพามาตรวจและรับการรักษา” นพ.เจษฎา กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับทารกกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาการได้ยินบกพร่อง ได้แก่ 1.ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือคลอดก่อนกำหนด 2.มีความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า และหูแต่กำเนิด มารดาได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อเด็กขณะตั้งครรภ์ 3.มารดามีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ 4.ภาวะตัวเหลืองจนต้องถ่ายเลือด 5.มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคประสาทหูพิการ เป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิด 6.มีปัญหาระหว่างคลอด แรกคลอดต้องอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยแรกเกิด 7.ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้รับยาที่มีพิษต่อหู 8.ภาวะขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์มารดาหรือระหว่างคลอด 9.มีลักษณะที่เข้ากับโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน 10.ภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด หรือภาวะที่มารดามีน้ำตาลในเลือดสูงในคณะตั้งครรภ์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์รับทำในส่วนของวิชาการ ว่า การคัดกรองเด็กแรกเกิดทุกคนจะมีการคัดกรองอย่างไร และควรมีการรักษาอย่างไร รวมถึงศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งมีแค่สิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยมีการศึกษาว่า มีเด็กที่ต้องผ่าตัดกี่คน ต้องใช้เงินเท่าไร มีความคุ้มค่าอย่างไร โดยศึกษามาแล้ว 2 ปี คาดว่า อีกประมาณปีกว่าๆ ก็จะสามารถสรุปข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าจะผลักดันออกมาเป้นสิทธิประโยชน์ได้หรือไม่
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า อุปสรรคการดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ 1.ระบบส่งต่อมีข้อจำกัดในบางพื้นที่ ซึ่งก็จะต้องมีการร่วมมือกันในการตรวจคัดกรองยืนยันต่อไป 2.เรื่องการจัดการข้อมูล ซึ่งก็มีทีมงานในการหารือกันอยู่ โดยความผิดปกตินั้นจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.พอได้ยินบ้าง จะมีเครื่องช่วยฟังบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ทั้งข้าราชการและบัตรทอง ซึ่งผู้ปกครอง ครู ต้องมีความรู้เพื่อนำไปดูแลอย่างใกล้ชิด 2.หูหนวก 100% ที่จะต้องมีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงเรียนแพทย์ มีรายจ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท และไม่ใช่ว่าผ่าตัดแล้วจบ ต้องมีการดูแลอย่างเต็มที่ การฝึกพูด ฝึกเขียน จึงต้องมีการเลือกเคสและมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ซึ่งก็กำลังทบทวนเกณฑ์ในสิทธิบัตรทอง ว่า หากใช้เกณฑ์เข้มข้นจะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ โดยในต่างประเทศมีการประเมินแล้วว่ามีความคุ้มค่า เพราะการที่ใช้เงินหลักแสนถึงล้านบาทต่อหู ไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่เพื่อให้เด็กสามารถได้ยินและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ ทำให้โรงเรียนสอนคนหูหนวกในต่างประเทศเริ่มปิดตัวลง