เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พ่อแม่ผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสที่มีลูกเล็กได้เฮ เมื่อรัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านความเห็นชอบ ให้แบนสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ เช่น แท็บเล็ต กับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 15 ปี ไม่ให้ใช้ในโรงเรียน แม้กระทั่งช่วงพักเรียน โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นไป แต่มีข้อยกเว้นให้แก่พวกนักเรียนคนพิการและระหว่างกิจกรรมนอกหลักสูตร
ส่วนของโรงเรียนระดับมัธยมที่มีเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ก็จะเป็นการเลือกเองว่าจะนำมาตรการแบนสมาร์ทโฟนมาใช้หรือไม่
กฎหมายดังกล่าว เป็นการทำตามคำสัญญาระหว่างหาเสียงของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยมันผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย
จากนั้นฌอง-มิเชล บล็องเคร์ รัฐมนตรีศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับ BFMTV สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส ให้เหตุผลว่า “ปัจจุบันนี้เรารู้ดีว่ามีปรากฏการณ์ติดหน้าจอ ปรากฏการณ์แย่ๆ จากการใช้โทรศัพท์มือถือ บทบาทหลักของเราคือปกป้องเด็กๆ และเยาวชน มันคือบทบาทพื้นฐานของการศึกษา และวันนี้กฎหมายได้อนุญาตให้ดำเนินการเช่นนั้นแล้ว”
การออกกฎหมายชิ้นนี้ เป็นการชี้ให้เห็นถึงความตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อพลเมืองของเขา ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความห่วงใยต่อลูกหลานที่ปัจจุบันติดสมาร์ทโฟนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการติดเกม และติดแชท เพราะเป็นห่วงว่า จะส่งผลกระทบต่อสมอง และมีผลกระทบต่อการเรียน
และหลายประเทศก็เริ่มมีการทดลองใช้กับบางสถาบันการศึกษา อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ มีผลการศึกษาของสถาบันเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ในลอนดอน พบว่าการแบนสมาร์ทโฟนตามโรงเรียนต่างๆ ทำให้นักเรียนมีผลคะแนนการสอบดีขึ้นอย่างชัดเจน
ในบ้านเราก็มีสถานศึกษาบางแห่งมีการห้ามไม่ให้เด็กนำสมาร์ทโฟนไปโรงเรียนเช่นเดียวกัน แต่เป็นการออกกฏในลักษณะของโรงเรียนนั้นๆกันเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นกฏระเบียบและอยู่ที่ความเข้มงวดของโรงเรียนแต่ละแห่ง เพราะมีความพยายามแหกกฎของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกพกโทรศัพท์มือถือเอาไว้ เพราะเมื่อต้องไปรับลูกที่โรงเรียนจะได้โทรหากันได้ ก็เป็นวิธีการของแต่ละคน และกลายเป็นปัญหาไม้เบื่อไม้เมาระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียนอยู่บ่อยๆ
ปัจจุบันไม่มีใครปฏิเสธว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปซะแล้ว บางคนมีหลายเครื่องอีกต่างหาก และส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกใช้สมาร์ทโฟน เพราะด้วยฟังก์ชันที่ต้องการจะตอบสนองชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคดิจิทัล
จริงอยู่ว่าโลกเปลี่ยน การมีโทรศัพท์มือถือมีข้อดีมากมาย ทั้งสะดวกรวดเร็ว สามารถติดต่อผู้คนได้มากมาย ทั้งทางด้านธุรกิจ คุยกับเพื่อน ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอพลิเคชั่นสารพัด โดยเฉพาะโปรแกรมที่ใช้ chat ได้รับความนิยมชนิดถล่มทลาย
แต่ก็ต้องอย่าลืมห่วงใยในเด็กเล็กที่ยังไม่เหมาะกับวัยด้วย
ก่อนหน้านี้คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักวิตกกังวล เพราะลูกติดสมาร์ทโฟน ติดเกม ติดChatไม่เป็นอันทำอะไร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เพียงแค่เด็กวัยรุ่น แต่เด็กเล็กก็เป็นปัญหาอย่างมาก
งานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก และนับวันเด็กที่ติดสมาร์ทโฟนก็จะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาจากพ่อแม่ที่หยิบยื่นเจ้าเครื่องมือเหล่านี้ให้กับลูกเองด้วย
เด็กติดสมาร์ทโฟน (Children’s Smartphone Addiction) หมายถึง เด็กที่ใช้เวลาเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตวันละหลายชั่วโมงติดต่อกัน ส่งผลให้กิจวัตรบางอย่างในชีวิตได้รับผลกระทบ เช่น เด็กปฏิเสธที่จะทำการบ้านถ้าพวกเขาไม่ได้เล่นเกมส์ หรือเล่นสมาร์ทโฟนจนไม่เป็นอันทำอะไร ฯลฯ พฤติกรรมเช่นนี้สร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างมาก
แต่ทั้งนี้ ก็มีพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายครอบครัวยอมควักเงินซื้ออุปกรณ์ไฮเทคจำพวกสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อหวังจะต่อยอดการเรียนรู้ของลูก แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นตรงกันข้าม เด็กหลายคนติดสมาร์ทโฟนกันงอมแงม จนกระทบกับการเรียนและพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กอีกด้วย
สถาบันที่เชี่ยวชาญทางด้านเด็กของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า เด็กทารกจนถึงวัย 2 ขวบ ไม่ควรหยิบจับอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ส่วนเด็กอายุ 3 - 5 ขวบนั้นให้เล่นได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และในวัยที่โตกว่านั้นจนถึงอายุ 18 ปี ควรเล่นแค่วันละ 2 ชั่วโมง แต่จากข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อสาธารณะได้ระบุว่า ชั่วโมงการใช้งานอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีของเด็กในสหรัฐฯ และแคนาดาสูงกว่าจำนวนที่แนะนำไว้ 4 ถึง 5 เท่า ดังนั้น ปัญหาเด็กติดสมาร์ทโฟนนับวันจะยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นในสังคมทั่วโลก รวมถึงสังคมไทยที่มีจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี
พ่อแม่จึงไม่ควรวางใจให้ลูกอยู่กับสมาร์ทโฟนเพียงลำพัง ควรดูแลพฤติกรรมการเล่นสมาร์ทโฟนของเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดปัญหาเด็กติดสมาร์ทโฟนในภายหลัง
ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความระมัดระวัง ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการที่นำเสนองานวิจัยมากมายหลายสำนักส่งสัญญาณเตือนดังๆ ว่าเป็นห่วงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ติดมือถืออย่างหนัก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังต่อเรื่องนี้ โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
แน่นอนข่าวคราวที่ฝรั่งเศสสร้างความพึงพอใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากในบ้านเราด้วย หลายคนอยากให้เกิดขึ้นแบบเป็นเรื่องเป็นราวในบ้านเรา เพราะเมื่อลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียน ก็อยากให้ลูกมีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของลูก การใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ถ้าใช้ไม่เป็น ถ้าโรงเรียนมีการกำหนดกฎระเบียบให้ชัดเจนก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเบาใจ เพราะอยากให้ลูกมีผลการเรียนที่ดี
แต่อย่าลืมว่าเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้านก่อน เริ่มตั้งแต่แบบอย่างที่ดี การปลูกฝังที่เหมาะสมกับวัย เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเป็นผู้หยิบยื่นสมาร์ทโฟนให้กับลูก เริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรมีการกำหนดกฎ กติกาตามวัย ให้ลูกได้เรียนรู้การมีกฎกติการ่วมกันภายในบ้าน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในเรื่องอื่นๆ โดยดูให้เหมาะสมกับวัย จนกระทั่งมาถึงเรื่องมือถือในวัยที่เหมาะสม ก็ต้องมีกฎกติกาว่าจะใช้เมื่อไร ควบคุมเรื่องเวลา และพูดคุยให้ฟังถึงประโยชน์และโทษของมันให้ลูกได้รับรู้ หรืออาจมีข้อตกลงร่วมกัน
แต่ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการความสะดวกสบายของตัวเอง ต้องการให้ลูกไม่ซน ต้องการให้ลูกนั่งอยู่เฉยๆ ฯลฯ โดยใช้เจ้าสมาร์ทโฟนสยบปัญหาเหล่านี้ล่ะก็ ต่อให้โรงเรียนมีกฏระเบียบเข้มงวดขนาดไหน ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาผลกระทบได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน เรื่องความห่วงใยในการใช้สมาร์ทโฟนกับเด็กเล็กก็เป็นเรื่องที่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน หรือที่บ้านอย่างเดียวไม่ได้เช่นกัน เพราะเด็กคืออนาคตของผู้ใหญ่ในสังคมยุคหน้า ถ้าเราเห็นว่าเด็กเล็กไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน เพราะส่งผลกระทบมากมาย รัฐก็ควรต้องตระหนักอย่างจริงจังมีการให้ความรู้กับผู้ใหญ่ในสังคม กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กอย่างเป็นระบบ
รวมไปถึงการออกนโยบายเพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียนอย่างเดียว