xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์ สร้างเด็ก 2 วัฒนธรรม “ไทย-ฝรั่ง” น่ารักในสังคมไทย อยู่ได้ในสังคมโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ เพราะหวังให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ มีวิธีคิด วิธีแสดงออกเป็นของตัวเอง แต่การเป็น “คนไทย” และมีเสน่ห์อย่างไทยๆ ที่เป็นรากเหง้าก็ไม่ควรลืม ซึ่ง ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพฯ เห็นความสำคัญของการสร้างเด็ก 2 วัฒนธรรมอย่างมาก

ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ กล่าวว่า ร.ร.นานาชาติโดยทั่วไปมักจะเน้นภาษาอังกฤษและขนบประเพณีของต่างชาติ โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหาแบบตะวันตก ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง สิ่งที่ดีของต่างชาติมีอะไรเราก็ต้องเอามาใช้ แต่ ร.ร.นานาชาติต้องมีความรับผิดชอบที่จะรักษาความเป็นไทย เสน่ห์แบบไทยๆ ด้วย เช่น ความสุภาพอ่อนโยน การพูดจามีหางเสียง ครับ ค่ะ การไหว้ ประเพณีไทยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ ร.ร.นานาชาติทุกแห่งในประเทศไทยต้องช่วยกันรักษา จรรโลงไว้ซึ่งความเป็นไทย เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนไทย อาศัยอยู่ประเทศไทย ต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้นำของประเทศ จึงต้องใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง มีความดื่มด่ำกับขนบประเพณีไทยพอสมควร และไม่เพียงแค่นักเรียนไทยเท่านั้น นักเรียนแลกเปลี่ยนจากต่างชาติ ที่พ่อแม่มุ่งหวังให้พวกเขาสามารถมาทำธุรกิจและอยู่ในเมืองไทยได้ ก็จะได้เรียนรู้วิถีขนบประเพณีของไทยด้วย

จากความสำคัญของทั้งวัฒนธรรมไทยและตะวันตกที่เด็ก ร.ร.นานาชาติควรจะมี ทาง ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพฯ จึงจัดกิจกรรมหลักสูตร “Thai Language and Culture Camp 2018” หรือ ไทยซัมเมอร์แคมป์ 2018 ขึ้น เพื่อสร้างเสริมวินัยตามวิถีความเป็นไทย โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ คือช่วง 16 ก.ค. - 3 ส.ค. 2561 ในกลุ่มนักเรียนอายุ 3 - 12 ปี หรือตั้งแต่ชั้นอนุบาล - เยียร์ 6

ดร.วีระชัย กล่าวว่า ช่วงซัมเมอร์มีเวลาว่างมากเกือบ 8 สัปดาห์ จึงต้องฉวยโอกาสให้นักเรียนเราได้มีโอกาส 100% ที่จะพูดภาษาไทย เรียนรู้และมีความน่ารักแบบไทยๆ จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีนักเรียนเข้าร่วมกว่าร้อยคน ที่จะมาศึกษาเรียนรู้และเข้าใจความเป็นไทยมากขึ้น ได้เข้าใจถึง 2 วัฒนธรรม ซึ่งใครที่สามารถอยู่ได้ใน 2 วัฒนธรรมก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

โลกเราทุกวันนี้เล็กลง เห็นได้จากสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่เพียงชั่วครู่ก็สามารถสื่อสารไปทั้งโลกได้ ซึ่งเมื่อโลกเล็กลง ถ้าเราไม่มีความสามารถในการคบค้าสมาคม หรือเข้าใจประเพณีชาติอื่นที่แตกต่างกับเราเยอะ เราก็จะเสียเปรียบ ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดปรองดองและมีความสุข ต้องรู้ใจเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะอยู่ได้ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก อย่างเรื่องการรู้จักปัญหาและวิธีแก้ปัญหา ซึ่งมีทั้งแบบรุนแรงอย่างฝรั่ง ประชุมจบใน 5 นาที เอาชนะกันในห้อง แต่พอออกจากห้องประชุมก็เป็นปกติ ซึ่งในสังคมไทยอาจจะต้องเสียเพื่อนกับวิธีการนี้ เขาก็ต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาแบบรอมชอม ใช้เวลาสักนิดหนึ่ง ซึ่งความอ่อนโยนประเพณีไทยแบบนี้ก็ไม่อยากให้นักเรียนเราไม่รู้จักหรือเสียไป ซึ่งเมื่อเด็กเรียนรู้ทั้ง 2 วัฒนธรรมแบบนี้ก็จะสามารถเลือกใช้และเข้ากันได้กับสังคมทุกแห่ง” ดร.วีระชัย กล่าวและว่า ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพฯ ยินดีเป็นรูปแบบตัวอย่างให้ ร.ร.นานาชาติทุกโรงควรทำแบบนี้

สำหรับหลักสูตรการจัดค่ายไทยซัมเมอร์แคมป์ หัวเรือใหญ่ในการดำเนินการอย่าง ครูเคท - น.ส.วีรนุช มุกสิกสวัสดิ์ อาจารย์โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพฯ อธิบายว่า ตามปกติแล้วนักเรียนจะใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน จะใช้ภาษาไทยเฉพาะคาบเรียนวิชาภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งเด็กยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของภาษาไทย แม้แต่การตอบคำถามวิชาภาษาไทยยังใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมองว่าเด็ก ร.ร.นานาชาติต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของความเป็นไทย จึงจัดหลักสูตรค่ายภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ให้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ช่วงปิดเทอม โดยกิจกรรมการเรียนรู้ความเป็นไทยตลอด 3 สัปดาห์จะแบ่งเป็น

1.ช่วงเช้า เรียนภาษาไทย เรียนทักษะฟังพูดอ่านเขียน แบ่งออกเป็น 5 ระดับห้อง คือ พรีเนิร์สเซอรีและเนิร์สเซอรี เรียนพยัญชนะ รีเซปชัน ฝึกพยัญชนะและสระ ฝึกทักษะเขียนเพิ่มขึ้น เยียร์ 1 ฝึกพยัญชนะ สระ และตัวสะกด เยียร์ 2 นำพยัญชนะ สระ และตัวสะกด มาผสมกันให้เป็นคำ และเยียร์ 3-6 เป็นการเรียนทักษะภาษาไทย พูดอ่านเขียน เพิ่มความเข้มแข็งใช้ภาษาไทยให้ถูกวิธี ซึ่งหลังมาเข้าค่ายก็เห็นพัฒนาการอย่างชัดเจน มีความรักภูมิใจ ใช้ภาษาไทยเพิ่มขึ้น พูดอ่านเขียนและตอบคำถามภาษาไทยดีขึ้น

ครูเคท บอกอีกว่า ส่วนกิจกรรมช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมความเป็นไทยต่างๆ เช่น ศิลปะไทย เรียนรู้ใบไม้มาทำศิลปะ เรียนรู้สุนทรียภาพผ่านบทเพลงไทย นั่งสมาธิ ไทยแดนซ์ รำไทย มวยไทย มีการจัดทัศนศึกษานอกห้องเรียน 2 แห่ง คือ การทำนาบ้านครูธานี เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา การใช้ชีวิตแบบชาวนา และที่มาของข้าวกว่าจะนำมาให้เรากินได้ ผ่านกระบวนการอย่างไร และชาวนาทำงานหาอาหารอย่างไร อีกแห่งคือ เรียนรู้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพ จตุจักร และกิจกรรมวันสุดท้าย คือ งาน “Thai Fun Fair 2018” งานวัดสไตล์ ร.ร.นานาชาติ ซึ่งจะนำเสนอผลงานกิจกรรมของนักเรียนและมอบประกาศนียบัตร และกิจกรรมฐานเวียนให้นักเรียนได้เรียนรู้ 6 ฐาน ทั้งการสาธิตทำขนมบัวลอย ทำส้มตำ พับดอกบัว พับดอกกุหลาบจากใบเตย เกมตักไข่ และม้าก้านกล้วยได้ออกกำลังกาย ของเล่นจากภูมิปัญญาไทย ซุ้มละ 10 นาที

ตลอด 3สัปดาห์ของการจัดค่าย ได้รับการตอบสนองที่ดีมากจากผู้ปกครอง อยากให้ลูกมาอีกปีหน้า เด็กก็มีความสุขที่มาเรียน ไม่มีใครอยากปิดเทอม เพราะได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ใช้ชีวิตแบบความเป็นไทยที่เด็กไม่ได้สัมผัสในวิถีชีวิตปกติเท่าไร” ครูเคท กล่าว

นางพัณณิดา เคียงศิริ ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กล่าวว่า ที่ให้ลูกเรียน ร.ร.นานาชาติ เพราะจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่นำไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้ และไม่ลืมเรื่องของความเป็นไทย ยังได้ภาษาไทยและขนบประเพณีต่างๆ ซึ่งที่บ้านเราก็จะเน้นเรื่องของมารยาท ความกตัญญู และวัฒนธรรมไทยอยู่แล้วด้วย การที่โรงเรียนจัดค่ายนี้ขึ้น เมื่อดูจากหลักสูตรแล้วถือว่าตอบโจทย์มากๆ คิดไม่ผิดที่ให้ลูกทั้ง 2 คนมาเข้าค่าย ลูกกลับมาก็บอกว่ามีความสุข สนุก อยากมาเรียนทุกวัน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ก็กลับมาเล่าให้ฟัง รู้จักพูดคุยภาษาไทย โรงเรียนยังเน้นย้ำให้ลูกไหว้เคารพผู้ใหญ่ ไม่ลืมปลูกฝังวัฒนธรรมไทย เพราะเราคือคนไทย อนาคตก็ต้องใช้ชีวิตประเทศไทย

เช่นเดียวกับ นางปรารถนา ภาษวดล ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์ บอกว่า เราอยากให้ลูกมีความคิดของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ จึงให้ลูกมาเรียน ร.ร.นานาชาติ แต่เราจะลืมภาษาไทยไม่ได้ เพราะเป็นภาษาแม่ของเรา ซึ่ง ร.ร.นานาชาติจริงๆ ก็ไม่ได้อ่อนภาษาไทย เพราะเรียนตามหลักสูตรของกระทรวง แต่เรากลัวลูกไม่ได้ อยากให้รู้ภาษาไทยแน่นกว่าเดิม เพราะลูกของตนอยู่บ้านก็ใช้แต่ภาษาอังกฤษ พูดอังกฤษกับเราตลอด เว้นแต่พูดภาษาไทยกับคุณพ่อ แต่ก็ไม่คล่องเลย จึงอยากให้เขามาเรียนเพิ่ม พอเห็นคอร์สของโรงเรียนก็สนใจ เพราะไม่ได้เรียนแค่ทักษะการฟังพูดอ่านเขียน แต่มีกิจกรรมวัฒนธรรมไทย กีฬาไทย การละเล่นไทยๆ พาไปนอกสถานที่ดูการดำนาปลูกข้าว ซึ่งลูกชอบมาก หลังกลับจากเข้าค่ายลูกจะถามภาษาไทยมากขึ้นว่าคำศัพท์นี้คืออะไร ได้ยินมาจากครู รู้จักคำประวิสรรชนีย์ เป็นต้น

ขณะที่ ด.ญ.ญาดา อมรชัยนนท์ นักเรียนชั้นเยียร์ 6 ร.ร.นานาชาติเดอะรีเจ้นท์ฯ กล่าวว่า หนูยังอ่อนเรื่องการใช้ภาษาไทยอยู่ คำศัพท์ก็ยังรู้ไม่มาก เมื่อเทียบกับเด็กทั่วไปในรุ่นเดียวกัน เพราะปกติใช้แต่ภาษาอังกฤษ การมาเข้าค่าย 3 สัปดาห์ก็ได้ใช้ภาษาไทยตลอด และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ก็รู้สึกว่าตนเองฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยคล่องขึ้น กิจกรรมก็มีความสนุก เพราะเอาความเป็นไทยมาผสมกับกิจกรรมต่างๆ อย่างตอนนี้ตนก็รู้ศัพท์ที่ไม่เคยรู้มากขึ้น อย่าง “กระด้ง” หนูก็ไม่รู้จัก ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าคืออุปกรณ์ที่ใช้ในการร่อนข้าว หรืออย่างคำราชาศัพท์ก็รู้เพิ่มมากขึ้น เช่น เสวย สวรรคต ส่วนกิจกรรมในวันสุดท้ายที่มีการเข้าฐาน ก็สนุกมาก มีสาธิตการทำบัวลอยซึ่งหนูชอบรับประทาน แต่ไม่เคยรู้วิธีทำ ก็ได้มาลองทำดูและรู้วิธีทำ คือ ใช้แป้งข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำที่ให้สีต่างๆ เช่น สีเขียวใช้น้ำใบเตย สีเหลืองจากฟักทอง สีม่วงจากอัญชัญที่ผสมมะนาว นำมาปั้นเป็นลูกแล้วนำไปต้ม พอสุกเม็ดก็จะลอยขึ้นมา ก็นำไปใส่ในหม้อกะทิ ซึ่งใช้น้ำตาลทราย กะทิสด มะพร้าวอ่อนมาเคี่ยวด้วยกัน ก็ได้มาลองทำครั้งแรกก็รู้สึกว่าสนุกดี













กำลังโหลดความคิดเห็น