ภายหลัง “TVC บอลโลกกูรู” เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเพียงไม่นาน ทำให้ผู้ชมทั้งจากสถานีโทรทัศน์ช่วงการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 รวมถึงผู้ที่ติดตามผ่านทาง Social media ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ดี ๆ ที่มีอะไรให้ทึ่งอีกมาก
ทุกวันนี้ “พลาสติก” เป็นวัสดุที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อทดแทนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีการผลิตและเป็นที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน มือถือ ถุงพลาสติก แก้วกาแฟ ช้อนส้อม ฯลฯ รวมไปถึงการนำไปใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะคุณสมบัติเด่นทั้งน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง ทนทาน แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์จำนวนขยะพลาสติกในปัจจุบันที่มีจำนวนมากขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการที่จำกัด ทำให้แนวโน้มขยะจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อหาทางออกของปัญหาอย่างยั่งยืนและทุกคนสามารถร่วมมือกัน โดยเริ่มตั้งแต่ การสร้างวินัยของการใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ อาทิ การเตรียมบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารแทนการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดโฟมที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดการใช้ถุงพลาสติก และหลอด เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และ พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Compostable Plastic) กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะซึ่งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญ ด้วยพลาสติกทั้งสองประเภทนี้ถูกคิดค้นจากเทคโนโลยีขั้นสูงที่ผลิตจากพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด สามารถย่อยสลายกลายเป็นดินได้ตามธรรมชาติในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
ในวันนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ให้ความสำคัญและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งพลาสติกชีวภาพประเภทโพลิแลกติกแอซิด (PLA) ที่ถูกนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ แก้วสำหรับเครื่องดื่ม เย็น (กาแฟอินทนิล) ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับงานเพาะชำ ถ้วยโยเกิร์ตจากพลาสติกชีวภาพ 100%(แดรี่โฮม)เป็นต้น รวมถึงไบโอพีบีเอส (BioPBS™) ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ เช่น นำมาเคลือบแก้วกระดาษใส่เครื่องดื่มร้อนที่ร้านคาเฟ่อเมซอน ซึ่งสามารถสัมผัสอาหารและทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศา นำมาผลิตเป็นฟิลม์ทำถุงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแห้ง เช่นถุงใส่เมล็ดกาแฟ นำมาผลิตขึ้นรูปเป็นช้อนส้อม แคปซูลกาแฟ และหลอดเครื่องดื่ม เป็นต้นโดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่จะถึงนี้ ทาง GC ก็พร้อมที่จะร่วมรณรงค์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการนำแก้วน้ำที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ BioPBS™ ไปใช้ในโรงอาหารจำนวน 7 แห่ง และวางแผนการนำไปใช้ทั่วทั้ง 17 แห่งในอนาคต ภายใต้แผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติกหลังถูกนำไปย่อยสลายในดิน กากชีวมวล(ลักษณะคล้ายดิน) ที่ได้หลังการย่อยสลายจะถูกนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่สามารถนำส่วนที่เหลือแปลงเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างได้อย่างยั่งยืน
ต้องยอมรับว่า พลาสติกนับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน และเราไม่สามารถปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ แต่เราสามารถสร้างวินัยร่วมกันในการบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกันได้ โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยก การจัดเก็บ การรีไซเคิล เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อไป