xs
xsm
sm
md
lg

แอปพลิเคชัน “ฮุกกะ (HYGGE)” จัดการคิวคนไข้ ลด รพ.แออัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

คนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐกลายเป็นภาพคุ้นชินของสังคมไทย ที่ผู้ป่วยและญาติต้องมาโรงพยาบาลแต่เช้า เพื่อที่จะมานั่งรอรับการตรวจ แม้จะเป็นผู้ป่วยนัดที่เวลานัดไม่ได้เป็นเวลาเช้า ก็ต้องรีบมา เพราะหากได้คิวหลังๆ ก็ต้องรอกันยาวกว่าจะได้รับการตรวจ ยิ่งหากเป็นคนไข้วอล์กอินที่ไม่ได้นัดมาก่อน แต่หวังเข้ามารับการตรวจรักษา ก็ยิ่งต้องมาแต่เช้าเพื่อให้ได้คิวอันดับต้นๆ

ยิ่งรอก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งรอก็ยิ่งหงุดหงิดอารมณ์เสีย เพราะไม่กล้าที่จะลุกไปไหนจากบริเวณจุดบริการ เพราะกลัวเลยคิวที่พยาบาลจะเรียก สุดท้ายกลายเป็นความแออัดหน้าห้องตรวจ และเกิดคำถามขึ้นว่า โรงพยาบาลจะมีวิธีบริหารจัดการคิวที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่คิด แต่บุคลากรในโรงพยาบาลก็คิดเช่นกัน ว่าจะต้องปรับระบบการบริหารจัดการคิวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย และลดความแออัดของโรงพยาบาลลง เช่นเดียวกับบุคลากรของโรงพยาบาลราชบุรี ที่เห็นถึงปัญหาของระบบคิว จึงอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบคิวผ่านแอปพลิเคชัน

นพ.ณรงค์ เห็นประเสริฐแท้ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์คนที่ 2 รพ.ราชบุรี เล่าว่า ขณะนี้ รพ.ราชบุรี ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “ฮุกกะ (HYGGE)” ซึ่งเป็นภาษาสวีเดน โดยเป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยเรื่องของการบริหารจัดการคิวผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนาโดยน้องๆ ในทีมของโรงพยาบาลที่เล็งเห็นถึงปัญหา และพัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้ขึ้น และนำไปส่งประกวดระดับประเทศ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมา ซึ่งโดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะนำมาใช้จริงกับโรงพยาบาลจะต้องมีการดำเนินการ ซึ่งตอนแรก รพ.ราชบุรี ตั้งใจว่าจะนำแอปพลิเคชันดังกล่าวมาใช้หลังจากดำเนินการเรื่องโอพีดีการ์ดสแกน หรือการเปลี่ยนบัตรโอพีดีการ์ดจากรูปแบบของกระดาษมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่อความสะดวกและลดการใช้กระดาษให้ได้ 80-90% ก่อน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า แต่จากช่วง ธ.ค. 2560 ทราบว่าทางเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งดูแลจังหวัดราชบุรีด้วยนั้น มีงบประมาณให้ จึงส่งทีมงานไปนำเสนอโครงการ ซึ่งปรากฏว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 5 ซื้อไอเดียนี้ แต่ไม่ได้ให้ รพ.ราชบุรีเริ่มก่อน แต่ให้เริ่มทำระบบฮุกกะนี้ใน 16 โรงพยาบาลใหญ่ของเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งขณะนี้แอปพลิเคชันก็รองรับทั้ง 16 โรงพยาบาลรวม รพ.ราชบุรีแล้ว และประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาใช้งานได้แล้วในระบบแอนดรอยด์ ส่วนระบบไอโอเอสอยู่ระหว่างการพัฒนา

สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชัน “ฮุกกะ” นั้น นพ.ณรงค์ อธิบายว่า เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาแล้ว จะยังไม่สามารถใช้งานได้ จำเป็นที่จะต้องมาลงทะเบียนการใช้งานกับโรงพยาบาลก่อน ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนการใช้งานที่โรงพยาบาลใดก็ได้จาก 16 โรงพยาบาลของเขตสุขภาพที่ 5 โดยแอปพลิเคชันจะแบ่งออกเป็น 4 โมดูลด้วยกัน คือ 1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ซึ่งหลังจากที่ลงทะเบียนก็จะเชื่อมกับโรงพยาบาล โดยในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ การแพ้ยาต่างๆ เป็นต้น

2.คิวบริการ อย่างที่บอกว่าการลงทะเบียนใช้งานสามารถลงทะเบียนที่โรงพยาบาลใดก็ได้ และเมื่อจะรับบริการที่โรงพยาบาลใด เมื่อเข้ามาในแอปพลิเคชันในส่วนของโมดูลที่ 2 จะมีรายชื่อโรงพยาบาลทั้ง 16 แห่ง ให้เลือกรับบริการ เช่น จะมารับบริการ รพ.ราชบุรี ก็ให้กดเลือก รพ.ราชบุรี เพื่อเข้าสู่ระบบคิวของ รพ.ราชบุรี หรือจะรับบริการที่ รพ.พระจอมเกล้า ก็กดเลือก รพ.พระจอมเกล้า เพื่อเข้าระบบคิว รพ.พระจอมเกล้า

สำหรับระบบการบริหารจัดการคิวนั้น จะใช้กับจุดที่มีการออกคิว อย่างของ รพ.ราชบุรี ขณะนี้หลักๆ ที่ใช้จะมี 2 จุดคือ จุดเวชระเบียน และจุดจ่ายยาหรือเภสัชกรรม ซึ่งเมื่อได้รับบัตรคิวที่เป็นกระดาษ จะมีคิวอาร์โคดให้สแกน ก็สามารถใช้แอปพลิเคชันในโมดูลที่สองนี้ และกดเลือก รพ.ราชบุรี และสแกนบัตรคิวนี้เข้าสู่แอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีความเป็นเรียลไทม์ว่าขณะนี้ถึงคิวที่เท่าไรแล้ว ใกล้ถึงคิวของเราแล้วหรือยัง ทำให้ผู้มารับบริการสามารถเดินทางไปไหนมาไหน หรือไปทำธุระอะไรก่อนก็ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งรอ ณ จุดบริการตรงนั้น ซึ่งก็จะช่วยลดความแออัดลงไปได้ โดยในอนาคตก็จะขยายไปยังจุดรับบริการแผนกอื่นๆ หรือคลินิกต่างๆ ที่มีคิวบริการ ซึ่งอย่างบางจุดที่เชื่อมกันได้ ก็จะให้เป็นคิวบริการเดียวกัน” นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในโมดูลที่สองยังมีบาร์โคดใช้แทนบัตรประชาชนได้ ในขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายด้วย ส่วนการจองคิวล่วงหน้านั้น รพ.ราชบุรีมีระบบจองคิวออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาเข้ามาอยู่ในระบบของแอปพลิเคชันด้วย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากผู้ป่วยแล้ว ส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70 จะเป็นผู้ป่วยนัดอยู่แล้ว อีกร้อยละ 30 เป็นผู้ป่วยวอล์กอิน เช่น มาครั้งนี้แล้วนัดอีกทีสัปดาห์หน้า ก็จะพัฒนาให้ระบุการนัดลงในแอปพลิเคชัน เพื่อครั้งหน้าที่มาจะได้มายังจุดบริการตามคิวและเวลาที่ระบุไว้เลย แต่การพัฒนาตรงนี้ยังค่อนข้างยาก เพราะแต่ละคลินิกในโรงพยาบาลก็มีความแตกต่างกัน ตรงนี้ทางแพทย์ พยาบาล แต่ละคลินิกต้องมานั่งหารือกับฝ่ายไอทีว่า จะจัดการการนัดคิวอย่างไร ใช้เวลาแต่คิวเท่าไร เพื่อลงเวลานัดและทำให้แอปพลิเคชันมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า 3.รายการยา ซึ่งหลังจากมารับบริการแล้ว หากได้รับยาจะมีการบันทึกว่าได้รับยาอะไร มีรูปภาพให้ดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องกินตอนไหน อนาคตจะมีการพัฒนาให้แจ้งเตือนได้ว่าถึงเวลากินยาแล้วหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ตรงนี้จะมีประโยชน์ตรงที่หากเราลืมพกยาเวลาเดินทางหรือเกิดทำยาหาย ก็สามารถนำรูปภาพยาไปซื้อที่ร้านขายยาหรือโรงพยาบาลได้ และ 4.ข้อมูลการรับบริการ หรือ Medical Record ส่วนนี้ยังไม่ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องความลับผู้ป่วย แต่เมื่อเปิดใช้ในส่วนที่ 4 ก็ต้องมีการลงทะเบียนหรือเซ็นยินยอมแบบบัตรเครดิต

การพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรเลย เพราะน้องๆ ในทีมของโรงพยาบาลตั้งใจพัฒนาขึ้นเอง แต่ในเรื่องของหน่วยความจำก็จะอาศัยการเช่าระบบ Cloud เดือนละประมาณหลักพันบาท และอาจมีการใช้งบประมาณในส่วนของการซื้อโทรทัศน์และสายเชื่อมเท่านั้น เพราะแม้ระบบคิวเราจะใช้ฮุกกะ แต่ก็ต้องคำนึงถึงคนที่ไม่ใช้แอปพลิเคชันหรือไม่มีโทรศัพท์มือถือด้วย ซึ่งก็สามารถดูคิวได้ผ่านจอโทรทัศน์ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโรงพยาบาลก็ตาม แทนที่จะนั่งรอ ตอนนี้ก็เหมือนเดิมในสนามบินจะเดินไปไหนก็ได้ เพราะมีโทรทัศน์ให้มอนเตอร์ได้ตลอดว่า คิวไปเท่าไรแล้ว และอนาคตจะพัฒนาระบบแจ้งเตือนให้ด้วย รวมถึงอาจมีการประสานไปยังห้างสรรพสินค้าที่อยู่ข้างๆ โรงพยาบาลในการขอติดโทรทัศน์เพื่อประกาศคิวด้วย ซึ่งก็จะได้ประโยชน์ทั้งโรงพยาบาลและห้างสรรพสินค้า เพราะคนก็มาซื้อของหรือมาเดินรอคิว เรียกว่าชีวิตใกล้ความเป็นสนามบิน ใกล้ความเป็น รพ.เอกชนมากขึ้น จากการนำระบบไอทีเช่นนี้มาใช้” นพ.ณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ระบบฮุกกะและแอปพลิเคชันกำลังอยู่ในช่วงขยายไปยัง 66 โรงพยาบาลชุมชนของเขตสุขภาพที่ 5 และหากมีการดำเนินการได้ดี พัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างมีประสิทธฺภาพ ก็น่าสนใจว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาจเลือกให้นำมาใช้ในการบริหารจัดการคิวของโรงพยาบาลในสังกัดหรือไม่ เพราะนอกจากใช้สแกนบัตรคิว มอนิเตอร์คิวแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่การแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิว การนัดคิวผู้ป่วยล่วงหน้า รายละเอียดเรื่องของการใช้ยา และข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วยที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีก



กำลังโหลดความคิดเห็น