สวรส.โชว์ แอปพลิเคชัน “คุณลูก” ช่วยพ่อแม่หมอติดตามพัฒนาการเด็ก และแบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานต้นทุนต่ำ
พญ.รสวันต์ อารีมิตร นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กไทย (ปีที่ 2) กล่าวในงานเปิดเวที HSRI’S SHOW : HSRI with Medical Innovation Research ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย ว่า แอปพลิเคชันคุณลูก พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวก และช่วยในการบันทึก ประเมิน และคัดกรองภาวะผิดปกติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก ให้มีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน พร้อมที่จะเรียนรู้ และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
“งานวิจัยเริ่มจากการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำไปออกแบบแอปพลิเคชันให้มีความสมบูรณ์ โดยเก็บข้อมูลความต้องการจากทีมสหวิชาชีพ และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์แอปพลิเคชันคุณลูก “KhunLook” ใช้ได้กับเด็กอายุ 0-18 ปี ที่สามารถดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดมาแล้วสามารถใช้แอปพลิเคชันได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยในการติดตามประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก อีกทั้งสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ช่องปากและฟัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การป้องกันอุบัติเหตุ และเปิดอ่านคำแนะนำล่วงหน้าในการเลี้ยงดูและดูแลสุขภาพของแต่ละวัยที่เหมาะสม ปัจจุบันแอปพลิเคชันคุณลูกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลภายใต้โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกอีกด้วย” พญ.รสวันต์ กล่าว
ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐและเอกชน ใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาวะแทรกซ้อนที่ไตของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การติดตามค่าไมโครแอลบูมินนูเรีย ที่ปัจจุบันต้องมีการตรวจปัสสาวะทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยวิธีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ (Rapid Test) ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรีย มีค่าใช้จ่ายราว 280 บาท แต่ในทางปฏิบัติการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะในสถานบริการปฐมภูมิหลายแห่ง พบว่า ส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจไมโครแอลบูมินนูเรียเพียงปีละ 1 ครั้ง ตามที่กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนอีก 2 ครั้ง ถ้าคนไข้จะตรวจต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจครบตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการตรวจจากแถบจุ่มปัสสาวะมีความยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
ผศ.ดร.สิริมา กล่าวว่า ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่เรียกว่า “การตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง” เป็นวิธีทางสถิติ โดยการสร้างสมการประเมินค่าจากปัจจัยเสี่ยงในประวัติคนไข้จาก 9 ตัวแปร ประกอบด้วย เพศ ไขมันไม่ดี น้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตตัวบน ค่าคีอะตินิน ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ระยะเวลาป่วยเบาหวาน ประวัติเบาหวานของบิดาและมารดา โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 1,211 ราย ผลการศึกษา พบว่า วิธีการตรวจด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ ประมาณ 7 เท่า และผลด้านความสามารถในการคัดกรองสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีใช้แถบจุ่มปัสสาวะ