xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย!! เด็กเกิดภาวะ “ขาโก่ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้ “ขาโก่ง” พบบ่อยในเด็กอายุก่อน 2 ขวบ เตือนปล่อยทิ้งไว้เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน แนะรีบพบแพทย์ รักษาได้ทั้งผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะขาโก่งเป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กช่วงวัยก่อน 2 ขวบ โดยสังเกตได้ชัดเจนในช่วงที่เด็กเริ่มเดิน เป็นอาการที่หัวเข่าทั้ง 2 ข้างโค้งแยกจากกันในขณะที่ยืนเท้าชิดติดกัน สาเหตุของขาโก่งแบ่งเป็นขาโก่งตามธรรมชาติ จากพัฒนาการของการสร้างขาเด็กในครรภ์มารดาโดยอาการจะดีขึ้นและหายไปเมื่อเด็กเริ่มยืดขาได้และเดิน ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะขาโก่งจากสาเหตุนี้ ส่วนขาโก่งที่พบน้อย เกิดจากโรคต่างๆ เช่น กระดูกผิดรูป กระดูกแตกหรือหัก ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตของกระดูก โรคกระดูกอ่อน เป็นต้น สามารถสังเกตได้จากขา 2 ข้างโก่งไม่เท่ากัน ขาโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กตัวเตี้ย ซึ่งถ้าหลังจาก 3 ขวบไปแล้ว ยังมีลักษณะขาโก่งและเดินเหมือนเป็ด ให้ถือว่ามีความผิดปกติ

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะขาโก่งเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันความผิดรูปของขาที่จะโก่งมากขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในอนาคต หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองสังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าเด็กจะมีอาการขาโก่ง ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจรักษา อย่าดัดขา หรือบิดเท้าให้เด็กเอง แพทย์จะเป็นผู้ให้การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งวีธีรักษามี 2 แบบ คือ 1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดโดยให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ช่วยดามบริเวณที่ขาโก่ง แต่อาจไม่เกิดประสิทธิผลทางการรักษาในผู้ป่วยที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง 2.การรักษาโดยการผ่าตัด หลังการผ่าตัดแพทย์จะใส่เฝือกไว้ในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นฟู และใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ในระหว่างที่พักฟื้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อความแข็งแรงและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย


กำลังโหลดความคิดเห็น