กรมควบคุมโรค เผย ปี 61 พบผู้ป่วยปอดบวมแล้วกว่า 1.3 แสนราย ตาย 96 ราย ชี้ เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุป่วยรวมกันกว่า 8.4 หมื่นราย แนะกินอาหารปรุงสุก สะอาด ล้างมือบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงในสถานที่แออัด สวมใส่หน้ากากอนามัย
วันนี้ (21 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก และในช่วงฝนตกทำให้อากาศมีความชื้นสูงขึ้น เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปอดบวม กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 กรกฎาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 131,247 ราย เสียชีวิตแล้ว 96 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่า ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วย 39,962 ราย เสียชีวิต 3 ราย และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด) ป่วย 44,195 ราย เสียชีวิตถึง 63 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยใน 2 กลุ่มนี้รวม 84,157 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง จึงควรให้ความสนใจมากกว่าปกติ เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆ และอาการซึมลง หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดอาการรุนแรงได้
การป้องกันโรค คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และหมอกควันอากาศ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เย็นจัดหรือชื้นจัด หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป