กรมวิทย์ เผย บุคลากรด้านรังสี เสี่ยงมะเร็งต่ำ พบรังสีด้านอุตสาหกรรมโอกาสเกิดมะเร็งที่ 3 ต่อแสนคน รังสีร่วมรักษา-เวชศาสตร์นิวเคลียร์ 2 ต่อแสนประชากร และรังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและวิจัย เสี่ยง 1 ต่อแสนคน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรังสีแพร่หลายมากขึ้น เช่น ด้านการแพทย์ใช้รังสีเอ็กซ์ในการตรวจวินิจฉัย การใช้เครื่องเร่งอนุภาคต่างๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม รังสียังมีอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้วย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ โดยบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี จึงมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากรังสีขณะปฏิบัติงาน สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงทำโครงการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของบุคลากรด้านรังสีจากการปฏิบัติงาน โดยวิเคราะห์จากค่าปริมาณรังสีเฉลี่ยในกลุ่มบุคลากร แล้วนำมาประเมินหาอัตราการเกิดโรคมะเร็ง จากข้อมูลปริมาณรังสีบุคคลของปี 2559-2560 พบว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี มีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการได้รับรังสีขณะปฏิบัติงานมีค่าน้อยมาก
“ในช่วง 2 ปีนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ประเมินค่าปริมาณรังสีบุคคล จำนวน 35,428 ราย โดยจำแนกบุคลากรจากที่ใช้บริการแผ่นรังสีบุคคลตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 7 กลุ่ม โดยมีตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา ทันตกรรม อุตสาหกรรม เวชศาสตร์นิวเคลียร์ วิจัย และรังสีรักษา การวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพจากข้อมูลปริมาณรังสีที่บุคลากรได้รับ ประเมินเป็นค่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง พบว่า อัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งสูงสุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรม ได้รับปริมาณรังสีเฉลี่ย 0.596 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี มีโอกาสเกิดมะเร็งจากการปฏิบัติงานที่ 3 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน รองลงมา คือ กลุ่มรังสีร่วมรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งที่ 2 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน และน้อยที่สุดคือ กลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และวิจัย มีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่ 1 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน สรุปได้ว่าทุกกลุ่มมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานแต่ละกลุ่มน้อยมาก” นพ.สุขุม กล่าว
นพ.สุขุม กล่าวว่า บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางด้านรังสี ควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันอันตรายจากรังสี ต้องปฏิบัติตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องมีการเฝ้าระวังการได้รับรังสีอย่างสม่ำเสมอ การได้รับรังสีสูงในขณะปฏิบัติงาน อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง เกิดการทำลายเซลล์อ่อนที่แบ่งตัวเร็วภายในร่างกาย เช่น ไขกระดูก หรือเกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย จนถึงระดับมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หากเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม ดังนั้น การติดอุปกรณ์วัดระดับรังสีบุคคล เพื่อให้ทราบปริมาณรังสีที่ได้รับ การใช้เครื่องกำบังรังสี เพื่อกันรังสีที่จะได้รับให้มีระดับลดลง การตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณที่ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังปริมาณรังสีในพื้นที่การทำงาน เหล่านี้เป็นมาตรการเบื้องต้นที่สามารถลดความเสี่ยงในการได้รับรังสีในระดับสูงโดยไม่จำเป็น