xs
xsm
sm
md
lg

ยางนา 1,000 ปี จำปาขาว 700 ปี รุกขมรดกของแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยางนา 1,000 ปี
ต้นยางนา อายุประมาณ 1,000 ปี ต้นจำปาขาว อายุ 700 ปี ที่จังหวัดพิษณุโลก ต้นตะบูนใหญ่ อายุกว่า 100 ปี จังหวัดตราด เป็นต้นไม้ใน 63 ต้น ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกเป็น รุกข มรดกของแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมมายุ 63 พรรษา 2 เมษายน 2561 จำนวน 63 ต้น เท่ากับพระชนมมายุ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี “ต้นยางนาและต้นจำปาขาว”ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเปิดตัวต้นไม้ของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็น 2 ใน 63 ต้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นช่วยกันอนุรักษ์ดูแลต้นไม้ที่มีประวัติศาสตร์คู่กับชุมชน ขณะเดียวกันส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ต้นไม้ด้วย

สำหรับจังหวัดพิษณุโลกที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำการสำรวจพบว่า 2 ต้น คือ ต้นยางนา ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย มีขนาดเส้นรอบรอบวง 15 เมตร สูง 50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี นับเป็นต้นยางที่สมบูรณ์และอายุมากที่สุดในประเทศไทย ส่วน ต้นจำปาขาว อายุ 700 กว่าปี อยู่ที่วัดกลางตำบลนครไทย

“ต้นยางนาและต้นจำปาขาว นับว่าเป็นต้นไม้ใหญ่อันทรงคุณค่ามีความสวยงามตามธรรมชาติ มีประวัติและตำนานเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนแห่งนี้ เชื่อว่าความโดดเด่นของต้นไม้ทั้ง 2 ต้น จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติเข้ามาสัมผัสความสวยงาม ความเขียวขจี ซึ่งธรรมชาติบรรจงรังสรรค์ไว้อย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม ท่านใดมาพิษณุโลกแวะมาดื่มด่ำต้นไม้ใหญ่ที่ปัจจุบันหายากมาก”

ส่วนใครที่ชอบกลิ่นอายป่าชายเลน ลองแวะมาที่บ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด มีต้นตะบูนใหญ่ อายุกว่า 100 ปี เส้นรอบวงประมาณ 2-3 เมตร สูง 13-15 เมตร อยู่ในกลุ่มต้นตะบูนในป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งศึกษา ท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงนิเวศ ที่มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านและสัตว์ทะเล ประกอบด้วย ป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน มีพื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ ต้นไม้แต่ละต้นมีขนาดใหญ่ให้ความรู้สึกว่ากำลังเข้าไปในป่ายุคดึกดำบรรพ์ ผืนป่าชายเลนแห่งนี้ได้รับการจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen ของจังหวัดตราด ในช่วงน้ำลง นักท่องเที่ยวจะได้เห็นความอัศจรรย์ของกลุ่มต้นตะบูนที่รากแผ่ขยายกิ่งรากถักทอกันเป็นลวดลายที่แปลกตา ครอบคลุมผืนดิน นอกจากนี้แสงเงาจากพระอาทิตย์ที่ส่องลอดผ่านใบไม้ กิ่งไม้ ยิ่งทำให้เกิดความสวยงามตระการตา ควรค่าแก่การบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก

อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป จะต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญดูแลต้นไม้เหล่านี้ให้มีอายุยืนยาวที่สุด กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ รุกขกร หรือหมอต้นไม้ กรมป่าไม้ เข้ามาช่วยดูแลต้นไม้ทุกต้นที่ประกาศขึ้นเป็น “รุกข มรดกของแผ่นดิน” นายคงศักดิ์ มีแก้ว รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ เล่าว่า มีทีมหมอต้นไม้กว่า 100 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ทำงานในกรมป่าไม้ ต้นไม้ที่ประกาศขึ้นเป็นรุกขมรดก ส่วนใหญ่มีอายุมากยิ่งต้องได้รับการดูแล หากเปรียบเทียบก็เหมือนคนแก่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ทีมหมอต้นไม้ เข้าไปตรวจอย่างสม่ำเสมอ คอยดูว่ามีโรคเข้ามาทำลายหรือไม่ กิ่งก้าน ลำต้น ผิดปกติรึเปล่า หากพบสิ่งผิดปกติหมอต้นไม้จะเข้าไปดูแลทันที แล้วทำการรักษา จดบันทึก ทำประวัติการดูแลเป็นรายต้นด้วย

“ต้นไม้ที่เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน เป็นต้นแก่ อายุมาก เหมือนทวดปู่ย่าตายายของเรา ตอนเป็นหนุ่มพอดูแลตัวเองได้ พออายุมากรักษาตัวเองยาก ต้นไม้อายุมากโอกาสที่จะเสื่อม โทรม เสียหายได้ง่าย หมอต้นไม้ต้องหมั่นดูแลเป็นพิเศษ ตั้งแต่ราก ลำต้น กิ่งก้าน ยอด เพื่อให้ต้นไม้เหล่านี้มีอายุยาวนานที่สุด” นายคงศักดิ์ บอกว่า การประกาศต้นไม้ขึ้นเป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน ช่วยปลุกให้คนในชุมชนที่ต้นไม้ได้รับการประกาศ เกิดการตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญ หวงแหนต้นไม้ รวมถึงช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันต้นไม้ยังช่วยลดโลกร้อน

ทีมหมอต้นไม้ นอกจากดูแลรุกข มรดกของแผ่นดิน แล้ว ยังดูแลต้นไม้ทรงปลูกทุกต้นทั่วประเทศ หลายครั้งที่ผมและหมอต้นไม้ ลงพื้นที่ดูแลต้นไม้ ชาวบ้านจะให้ความสนใจเข้ามาซักถาม พอรู้ว่าต้นไม้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 ทรงปลูก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเชื้อพระวงศ์ทรงปลูกไว้ ชาวบ้านจะรัก รู้สึกหวงแหนต้นไม้และช่วยเป็นหูเป็นตา คอยดูแลต้นไม้ต้นนั้น

ขณะที่ นายเอกลักษณ์ ประดับศรี เจ้าพนักงานการเกษตร สำนักโครงการพระราชดำริ กรมป่าไม้ เล่าว่า รู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสดูแลต้นไม้รุกข มรดกของแผ่นดิน และต้นไม้ทรงปลูก “ผมและทีมหมอต้นไม้ ได้ดูแลต้นไม้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นคูน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งโดนแมลงกินเปลี่ยน ตอนนั้นเข้าไปทำศันยกรรม ตอนนี้มีสภาพสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังได้ดูแลต้นขนุน ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แห่งหนึ่ง ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี สมเด็จย่า ทรงปลูกไว้ ตอนนั้นพบว่าต้นขนุนผุเกือบทั้งต้น แต่วันนี้ขนุนออกผล

...ช่วงวันหยุด ไม่รู้จะไปไหน อยากเชิญชวนสัมผัสต้นไม้ใหญ่ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา คอยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน

จำปาขาว 700 ปี
ต้นตะบูน

หมอต้นไม้ สาธิตสันยกรรมต้นไม้



กำลังโหลดความคิดเห็น