จิตแพทย์ชื่นชม “โค้ชเอก” นำพา 12 ชีวิตทีมหมูป่านั่งสมาธิ ช่วยเกิดสติ ร่างกายอดทนต่อความหิวมากขึ้น ช่วยร่างกายใช้พลังงานน้อยลง ย้ำจากนี้ต้องดูแลจิตใจทุกคน แต่ละคนดูแลต่างกัน ย้ำโค้ชมีความรับผิดชอบแล้ว ดูแลเด็กดีมาก อย่าคิดแต่เรื่องที่ผ่านมาแล้วโทษตัวเอง ควรมองไปข้างหน้า
จากกรณี 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เป็นเวลากว่า 9 วัน ซึ่งในการเอาตัวรอดของทั้ง 13 คนนั้น นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือ “โค้ชเอก” ให้ทั้งหมดถนอมร่างกายด้วยการตั้งสติ ทำสมาธิ ให้ลืมความหิว ให้ร่างกายใช้พลังงานน้อยที่สุดนั้น
วันนี้ (5 ก.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การนั่งสมาธิ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดอาการต่างๆ และทำให้มีสติ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับเยอะมาก ว่า การฝึกสมาธิทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย จิตใจ และสมอง ทำให้สมองส่วนทำงานด้านอารมณ์ลดลง สมองส่วนเหตุและผลมีมากขึ้น ส่วนเรื่องการควบคุมความหิว อาจเป็นผลมาจากการฝึกสมาธิทำให้มีความอดทนมากขึ้น ลดความฟุ้งซ่าน ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า การติดอยู่ในถ้ำหรือในเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ หากช่วงระยะแรกที่เกิดวิกฤต จะเป็นภาวะช็อก ตึงตัวทันทีว่า จะเกิดอันตราย มีความตื่นตระหนก กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน ว่า ติดอยู่ในภาวะวิกฤต ต่อมาในระยะ 3-4 วัน จะยิ่งรู้สึกเกิดความกังวล ว่า จะออกไปได้หรือไม่ได้ มีความคิดว่า จะหมดหวัง หรือมีหวัง เพราะเริ่มอยู่นานขึ้น ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลียลง
“กรณีนี้ต้องชื่นชมโค้ชมาก เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ดี เป็นมืออาชีพที่สามารถช่วยน้องๆ และยังมีประสบการณ์ที่ดีในเรื่องการฝึกสมาธิ และยังนำฝึกสมาธิ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีการฝึกสมาธิ ก็จะทำให้เกิดสติ และร่างกายอดทนมากขึ้น ส่วนที่ว่าควบคุมความหิวได้นั้น อาจเป็นเพราะร่างกายไม่ได้ขยับมาก ไม่ได้ใช้พลังงาน ร่วมกับมีความอดทนเพิ่มขึ้น เพราะปกติคนนั่งสมาธิ นอกจากมีสติแล้วก็จะเพิ่มเรื่องความอดทนมากกว่าคนอื่นๆ” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรนั่งสมาธิอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ปกติการนั่งสมาธิก็คล้ายการออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธินานๆ แค่เพียงวันละ 5-10 นาที ช่วงเวลาไหนก็ได้ก็ก่อประโยชน์ทั้งนั้น ที่แนะนำคือ เวลาที่เหมาะสม คือ เวลาที่เรามีความพร้อม หรือจิตใจสงบ หรือช่วงก่อนนอนก็ถือว่าเหมาะสม เพราะจะช่วยเสริมให้เกิดการนอนอย่างเต็มที่ได้ อย่างไรก็ตาม การทำสมาธิมากไปก็เป็นผลลบได้ หรือใช้รูปแบบแข็งตัวเกินไป การฝึกก็มีหลายระดับ จริงๆ เราควรเรียนรู้ระดับแบบผ่อนคลายความเครียดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
เมื่อถามถึงการดูแลสภาพจิตใจของโค้ช เพราะหลายคนกังวลว่า จะเกิดการโทษตนเอง พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จริงๆ ต้องดูแลสภาพจิตใจทุกคน แต่ละคนก็จะแตกต่างกัน แต่ในส่วนของโค้ชอาจเกิดความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตัวเองต้องรับผิดชอบ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น โค้ชมีความรับผิดชอบ ดูแลเด็กๆ ดีมาก และก็ไม่อยากให้ไปคิดถึงว่า ทำไมเหตุการณ์วันนั้น ไม่ทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่มีใครอยากให้เกิด เราควรมองเรื่องนี้เป็นบทเรียนและก้าวไปข้างหน้าดีกว่า
“สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องการรับประทาน เพาเวอร์เจล ที่เป็นอาหารให้เด็กๆ จริงๆ ไม่ใช่ และที่สำคัญไม่ใช่ว่าจะกินได้ทุกคน เพราะเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง เหมาะกับนักกีฬาที่สูญเสียพลังงานมากๆ และต้องการพลังงาน ซึ่งคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับประทาน เพราะอาจได้รับพลังงานสูงเกิน และมีน้ำตาลสูงเกินด้วย ส่วนอาหารอ่อนๆ สำหรับผู้ป่วยก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์ และนักโภชนาการคำนวณความเหมาะสมอีกที” รองปลัด สธ.กล่าว