xs
xsm
sm
md
lg

ต้องใช้สื่อสารพลังบวกเยียวยาเด็กทีมหมูป่า/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พลันที่ได้ยินข่าวนักดำน้ำชาวอังกฤษเป็นทีมแรกที่ได้พบเด็ก ๆ และโค้ชจากทีมหมูป่า อะคาเดมี่ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็สร้างความยินดีปรีดาไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาทั้ง 13 คน

แต่ท่ามกลางความปลื้มปีติดีใจได้ไม่นาน ก็เริ่มมีกระแสโซเชียลมีเดียถึงประเด็นต่าง ๆ มากมาย มีทั้งที่ตำหนิทั้ง 13 คน ประมาณว่าเด็กซน เด็กไม่ควรเข้าไปเที่ยวถ้ำในช่วงเวลานั้น โค้ชไม่ควรพาเด็ก ๆ เข้าไป และอีกต่าง ๆ นานา ในขณะที่บางกระแสก็ตำหนิคนที่ตำหนิเด็กและโค้ชอีกทีว่าไม่ควรไปต่อว่าเด็ก ๆ เพราะการติดอยู่ในถ้ำก็เป็นการลงโทษพวกเขาแล้ว

ขณะเขียนต้นฉบับ ทั้ง 13 คนยังไม่ได้ออกจากถ้ำ แต่อยู่ระหว่างการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือให้น้อง ๆ ทีมหมูป่าได้ออกจากถ้ำด้วยความปลอดภัย

ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิตครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการณ์ที่ควรได้รับความชื่นชมจากทุกภาคส่วนที่มีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจจากจิตอาสาทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยมีเป้าหมายเดียวกัน เป็นปฏิบัติการที่น่าขนลุก และปลาบปลื้มยิ่งนัก

และนับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของบ้านเรา เมื่อเกิดเพทภัยเมื่อใด พลังรักสามัคคีจะปรากฎให้เห็นในทุกครั้ง ส่วนภารกิจนั้น ๆ จะราบรื่นหรือสำเร็จหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งภาวะผู้นำ ที่ต้องบริหารจัดการสถานการณ์ภายใต้ภาวะวิกฤตินั้น ๆ ด้วย

ส่วนครั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างสง่างาม และพิสูจน์ภาวะผู้นำได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ประเด็นที่ดิฉันอยากหยิบยกขึ้นมา คือเรื่องภายหลังจากที่ทีมหมูป่าได้ออกจากถ้ำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะสภาวะทางจิตใจ ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องการตำหนิ หรือไม่ตำหนิพวกเขาเท่านั้น

ถ้าตามขั้นตอนของภารกิจ ทีมหมูป่าจะต้องถูกส่งไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจสภาพร่างกาย และดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของทุกคนก่อน จากนั้นเมื่อสภาพร่างกายและจิตใจ ปกติแล้วก็ส่งคืนพ่อแม่ผู้ปกครอง

เรื่องขั้นตอนต่าง ๆ เป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการไป แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงหลังจากที่พวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตปกติ จะสามารถใช้ชีวิตปกติได้เมื่อไหร่ และจะได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับเด็กการปรับตัวเพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติสามารถทำได้ไม่ยาก ให้เวลาพวกเขาได้ปรับตัว แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือผู้ใหญ่รอบตัวเขาต่างหาก ที่จะทำให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววันหรือไม่

อย่าลืมว่า “เด็กก็คือเด็ก” และผู้ใหญ่ทุกคนก็เคยผ่านวัยเด็กมากันทุกคน แต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป เด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายก็มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่เด็กจะรวมตัวเกาะกลุ่มกันตามพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่สนใจเหมือน ๆกัน และแน่นอนเด็กส่วนใหญ่มักจะมีวีรกรรมเป็นของตัวเอง ผู้ใหญ่เองก็เคยผ่านวัยเด็กในรูปแบบทะโมนตามวัย แหกกฏบ้าง หนีเที่ยวบ้าง ฯลฯ ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะมากน้อยแค่ไหน ต่างกันอย่างไร มีประสบการณ์ที่ดีหรือแย่อย่างไร

กรณีของทีมหมูป่าเป็นเด็กน้อย 12 คนที่เป็นนักกีฬา เป็นเด็กผู้ชาย ก็เป็นธรรมดาที่จะผาดโผนโจนทะยาน และอยากทำอะไรที่ทะโมนตามวัยบ้าง กรณีที่เด็กเข้าไปเที่ยวถ้ำหลวง ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของพวกเขา เป็นการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ เพียงแต่ครั้งนี้พวกเขาไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องราวบานปลายใหญ่โตจากการเข้าไปเที่ยวถ้ำของเขา

ฉะนั้น การจะบอกว่าเด็กซน ต้องโดนตำหนิหรือประนาม หรือต่อว่าที่ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วนั้น จึงไม่ควรอย่างยิ่ง

ตรงกันข้าม ก็ไม่ควรไปโหมกระแสชื่นชมว่าเด็กเหล่านั้นเป็นฮีโร่ เพราะสถานการณ์ไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นความห่วงใยของสังคม ที่พยายามเตือนทุกฝ่ายในการปฏิบัติตัวที่ไม่ไปสร้างความดราม่าให้กับเด็กกับโค้ชทีมหมูป่าเกินความพอดี เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางใด ล้วนแล้วจะส่งผลต่อพวกเขาทุกคน

แต่สิ่งที่อยากจะฝากข้อคิดสักนิดก่อนที่จะสื่อสารกับเด็กภายหลังจากที่ออกมาจากถ้ำนั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และควรใช้พลังบวกในการสื่อสารกับพวกเขา

หนึ่ง - โอบกอด ชื่นชมและให้กำลังใจที่เด็กมีความอดทน สามารถเอาตัวรอดจากการใช้ชีวิตในถ้ำได้ถึง 10 วัน

สอง - เล่าถึงเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นนอกถ้ำให้พวกเขาฟังว่ามีความห่วงใยและความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศในการช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร และทำให้เกิดพลังบวกจากหลายภาคส่วนเช่นไร

สาม - ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเล่นกีฬาที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าจากเหตุการณ์นี้ จะเห็นว่าร่างกายก็จะรับสภาพหรือทนทานได้มากกว่าปกติ และสนับสนุนให้พวกเขาเล่นกีฬาต่อไป

สี่ - พูดคุยให้เด็กสบายใจ ไม่พยายามพูดด้วยท่าทีตำหนิหรือต่อว่าที่เด็กเข้าไปในถ้ำ หรือการไม่เชื่อฟังก็ตาม

ห้า - พยายามเป็นผู้รับฟังที่ดี อย่ากดดันหรือบีบคั้นให้เด็กๆ เล่าในสภาพที่ยังไม่พร้อม แต่ควรบอกให้เขาพร้อมที่จะเล่าถึงเรื่องราวต่างๆในถ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดก็พร้อมรับฟังทุกเมื่อ

หก - หลีกเลี่ยงการให้เด็กเป็นข่าว หรือต้องตอบคำถามกับสื่อมวลชน ยิ่งเพิ่งออกจากพื้นที่ได้ไม่นาน ควรปล่อยให้เขาได้ปรับตัวปรับใจปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กอยู่กับภาพความทรงจำแบบไหน หวาดผวา หวาดกลัว ไม่อยากพูดถึงสถานการณ์นั้นอีก หรือเด็กจะรับรู้ เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับความพลาดพลั้งของตัวเอง และนำมาเป็นบทเรียนให้กับชีวิต ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการสื่อสารของคนใกล้ชิด และขึ้นอยู่กับสังคมสื่อสารกับพวกเขาแบบไหนด้วย

เพราะมันจะกลายเป็นฝันร้ายไปตลอดชีวิต หรือบทเรียนราคาแพงที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ก็อยู่ที่ปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น