xs
xsm
sm
md
lg

ไทยขึ้นเทียร์ 2 พยายามทำตามกฎหมายค้ามนุษย์ แต่ยังไม่ครบถ้วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กโย่ง” ชี้ ไทยพยายามแก้ค้ามนุษย์ จนได้รับการปรับระดับมาอยู่เทียร์ 2 ทั้งด้านป้องกัน ปราบปราม ดำเนินคดี บังคับใช้กฎหมาย และคุ้มครอง เผยเทียร์ 2 คือกลุ่มประเทศที่มีความพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำกฎหมายค้ามนุษย์ แต่ยังไม่ครบถ้วน

วันนี้ (29 มิ.ย.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี 2561 โดยปรับระดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 จากระดับ 2 เฝ้าระวัง ว่า การปรับระดับในครั้งนี้มาจากการที่รัฐบาลไทยได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีความพยายามดำเนินการเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนตามหลักประชารัฐ

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า สำหรับระดับเทียร์ 2 หมายถึงประเทศ หรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และนานาประเทศ เพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ได้รับการพิจารณาจัดระดับให้ดีขึ้น เนื่องจากผลการดำเนินงานที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ 1. นโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเป็นวาระแห่งชาติ และเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินงานแก้ไขอย่างจริงจังต่อเนื่อง 2. ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดมากขึ้น และลดระยะเวลาในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษคดีค้ามนุษย์ รวมทั้งมีการอบรมเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และแต่งตั้งคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งในปี 2560 มีทั้งหมด 11 ราย

3. ด้านคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดย พม. ออกระเบียบให้องค์กรพัฒนาเอกชนสามารถจัดตั้งสถานคุ้มครองในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และสนับสนุนงบประมาณ จัดทำโครงการเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้เสียหาย ช่วยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและบังคับคดีให้กับผู้เสียหาย และ 4. ด้านการป้องกัน โดยเฉพาะการตรวจตราในสถานบริการและเรือประมง และเพิ่มการอบรมพนักงานตรวจแรงงาน แต่พบว่ามีจำนวนผู้เสียหายและการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานมีจำนวนลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา มีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน โดยเฉพาะเด็ก การจัดทำวิดีทัศน์เผยแพร่บนเครื่องบินเพื่อลดอุปสงค์ในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับภาคประชาสังคม และหน่วยงานต่างๆ จนระดับ TIP Report ดีขั้น อย่างไรก็ตาม ไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกมิติ อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น