xs
xsm
sm
md
lg

ล้มเหลวจากการทำงาน ปัจจัยทำให้ฆ่าตัวตายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์ ชี้ ล้มเหลวการทำงาน เป็นปัจจัยทำให้ฆ่าตัวตายได้ แต่พบได้น้อย ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว

จากกรณี นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กินยาฆ่าตัวตายพร้อมภรรยา โดยเจ้าตัวเสียชีวิตที่บ้านพัก ส่วนภรรยาอยู่ระหว่างการรักษาตัว ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากปัญหาความเครียดจากการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีพัวพันโกงเงินโครงการช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง

วันนี้ (29 มิ.ย.) นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีอัตรา 6-6.5 คนต่อ 1 แสนประชากร โดยพบมากที่สุดในกลุ่มคนทำงาน รองลงมาคือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเช่นนี้ติดต่อกันมา 4-5 ปีแล้ว สาเหตุของการฆ่าตัวตายมักมาจากความสัมพันธ์ทางครอบครัว หรือในผู้สูงอายุจะมีในเรื่องของการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเข้ามาเกี่ยวข้อง และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น มักมาจากการดื่มสุรา การใช้สารเสพติดต่างๆ หรือการมีโรคจิตเวชเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยการฆ่าตัวตายที่มาจากความเครียด หรือความล้มเหลวจากการทำงานก็พบได้บ้าง แต่น้อยเมื่อเทียบกับสาเหตุจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายในวงกว้าง ทั้งนี้ พบว่า คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น จะพบในคนที่มีความโดดเดี่ยว หรือพยายามโดดเดี่ยวโดยการแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งหากมีผู้ใกล้ชิดช่วยเหลือ หรือให้กำลังใจก็จะสามารถลดความเสี่ยงได้

เมื่อถามถึงการพยายามฆ่าตัวตายด้วยกันจากกลุ่มคนที่มีความเครียดร่วมกัน เช่น สามี ภรรยา หรือคู่รัก นพ.ณัฐกร กล่าวว่า โดยทฤษฎีสามารถเป็นไปได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยพบ และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะจากข้อมูลการฆ่าตัวตายหรือในใบมรณบัตรก็จะไม่ได้ในระบุในเรื่องนี้ไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น