xs
xsm
sm
md
lg

เหรียญสองด้านจากปรัชญาจีนของเฒ่าซ่าย /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้เจ้าลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” สอบเสร็จแล้ว ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือแนวปรัชญาที่เขาสนใจในห้วงเวลานี้ ส่งผลให้เขามีคำถามและมุมมองในการเปรียบเทียบชีวิต และสังคมที่น่าสนใจ ดังเช่นเรื่อง “เฒ่าซ่ายผู้สูญเสียม้า” ที่ทำให้กลายมาเป็นบทความชิ้นนี้
…………………………………………………….
"塞 翁 失 马"
ประโยคภาษาจีนที่อ่านว่า "ซ่าย เวิง ซือ หม่า" นี้แปลเป็นไทยว่า "เฒ่าซ่ายผู้สูญเสียม้า"
แน่นอนว่าผมไม่ได้จะมาพูดถึงเฒ่าซ่ายที่สูญเสียม้าเฉย ๆ ไม่ว่าจะเป็นม้าที่เป็นพาหนะ หรือม้านั่ง เพราะเรื่องเล่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าทางปรัชญาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของจีน ผมได้อ่านเรื่องราวของชาวนาผู้นี้ผ่านบทเรียนในคาบวิชาศิลปศาสตร์จีนในหลักสูตรที่ผมเรียนอยู่ในปัจจุบันนี้
เชื่อว่าเรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าต่อจากนี้น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาของหลาย ๆ คนมาบ้างแล้วเรื่องราว "เฒ่าซ่ายผู้สูญเสียม้า" มีอยู่ว่า...
นานมาแล้ว ณ หมู่บ้านเกษตกรรมบริเวณชายแดนทางตอนเหนือของแผ่นดินจีน มีชาวนาสูงอายุผู้หนึ่งชื่อว่า "เฒ่าซ่าย" อาศัยอยู่กับลูกชาย ผู้เฒ่าเลี้ยงม้าเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ประโยชน์ในวิชาชีพเกษตกรของตัวเอง
อยู่มาวันหนึ่ง ม้าตัวเก่งหายได้ไปจากคอก เมื่อเหล่าเพื่อนบ้านทราบเรื่อง จึงรีบพากันมาปลอบโยนผู้เฒ่า
"ผู้เฒ่าซ่ายเอ๋ย ไยท่านจึงโชคร้ายปานนี้"
เฒ่าซ่ายได้ยินเข้า ด้วยความที่อายุสูงมากแล้ว ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแทบจะทุกรูปแบบ จึงได้แต่ยิ้มอย่างเข้าใจกับชีวิตและตอบกลับไปอย่างสุขุมว่า
"ก็ไม่แน่ บางทีการมาเยือนของเคราะห์ร้าย อาจนำมาซึ่งพรบางอย่างก็ได้"
หลังจากนั้น ม้าตัวที่หายไปก็กลับมาที่คอกพร้อมกับม้ารูปร่างสง่างามอีกตัวหนึ่ง
เมื่อเรื่องถึงหูเหล่าเพื่อนบ้าน จึงพากันมาแสดงความยินดีกับพ่อเฒ่ากันอย่างพร้อมหน้า
."ม้าก็ไม่ได้หายไป แถมยังได้ม้าพันธุ์ดีมาเพิ่มอีกตัวหนึ่ง เฒ่าซ่ายเอ๋ย ท่านช่างโชคดียิ่งนัก"
.พ่อเฒ่าแทนที่จะดีใจ กลับแสงแดงอารมณ์ที่เยือกเย็นราบเรียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อมยิ้มเล็กน้อยก่อนจะตอบเพื่อนบ้านกลับไปว่า
."ก็ไม่แน่ ม้าพันธุ์ดีตัวนี้อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด ใครจะรู้ว่ามันอาจจะนำมาซึ่งคราวเคราะห์ก็ได้"
.วันหนึ่ง เด็กหนุ่มลูกชายพ่อเฒ่าที่เป็นคนชอบขี่ม้าอยู่เป็นพื้นได้ไปทดลองขี่ม้าพันธุ์ดีตัวใหม่ที่เพิ่งได้มา แต่เนื่องจากม้าตัวนี้ยังไม่เคยถูกฝึกให้คุ้นชินกับการขับขี่โดยมนุษย์ จึงเกิดอาการพยศ สบัดเด็กหนุ่มจนตกลงมาขาหักอยู่ที่พื้น
.เพื่อนบ้านที่ได้ยินเรื่องนี้ต่างตกใจ พากันไปรวมตัวอยู่ที่บ้านของเฒ่าซ่ายเพื่อดูอาการของลูกชายผู้น่าสงสารของเขา และแสดงความเสียใจต่อเฒ่าซ่าย
."เจ้าม้าเลวเลี้ยงไม่เชื่องตัวนั้น มันพยศจนลูกชายท่านพลัดตกลงมาขาหัก ถ้าม้าของท่านไม่หายไปและนำพาเจ้าม้าเลวตัวนั้นมา ลูกชายของท่านคงไม่จำเป็นต้องมารับเคราะห์กรรมเช่นนี้ เฒ่าซ่ายเอ๋ย ท่านช่างโชคร้ายเสียเหลือเกิน" เพื่อนบ้านพูดอีกครั้ง
เฒ่าซ่ายได้ยินเช่นนั้นแล้วแทนที่จะพาลโกรธ กลับไม่แสดงอารมณ์แต่อย่างใด เพียงยิ้มอย่างเยือกเย็นเหมือนเคย และพูดออกมาว่า
"ไม่มีอะไรหรอก ก็ไม่แน่ ขาหักอาจจะนำมาซึ่งเคราะห์ดีก็ได้"
ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดสงครามใหญ่ขึ้น ทางการจำต้องมาเกณฑ์เด็กหนุ่มไปเป็นทหารร่วมรบในสงครามนี้ ทหารของทางการเดินทางมายังหมู่บ้านเกษตรกรรมและเกณฑ์เด็กหนุ่มลูกหลานของแทบทุกครัวเรือนไปจนหมด จนมาถึงบ้านของเฒ่าซ่าย กลับพบว่าลูกชายบ้านนี้ขาหักไม่สามารถออกไปร่วมรบได้ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของพ่อเฒ่าจึงรอดจากการถูกเกณฑ์ไปอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อเพื่อนบ้านได้ยินเช่นนั้น จึงมารวมตัวที่บ้านพ่อเฒ่าอีกครั้ง
"ลูกหลานของพวกเราถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเสียจนหมด หากลูกชายของท่านไม่ได้ขาหักอยู่ล่ะก็ เขาคงจะต้องถูกส่งไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ในสนามรบแบบลูก ๆ ของพวกเราเป็นแน่แท้ เฒ่าซ่ายเอ๋ย ท่านช่างโชคดีเสียยิ่งนัก"
เป็นอีกครั้งที่เฒ่าซ่ายไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ รอยยิ้มแบบคนเข้าใจชีวิตยังคงปรากฎ พร้อมเสียงตอบกลับไปโดยเริ่มต้นประโยคแรกเหมือนเดิมว่า
."ก็ไม่แน่....."
.............
เรื่องราวของ "เฒ่าซ่ายผู้สูญเสียม้า" ได้บอกอะไรกับเราบ้าง ? และที่สำคัญกว่านั้นมันได้สะท้อนอะไรในสังคมบ้าง ?
ในบทเรียนที่ผมเรียน ผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อคิดของเรื่อง "เฒ่าซ่ายผู้สูญเสียม้า" ว่าหากเราประสบพบเจอกับสิ่งที่คิดว่าดี จงอย่าเพิ่งรีบดีใจกับมันจนเกินไป เพราะมันอาจไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด
ในขณะเดียวกัน หากเราประสบพบเจอกับสิ่งที่คิดว่าแย่ จงอย่าเพิ่งรีบเสียใจไปกับมัน เพราะมันอาจไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด
หากนำมาเปรียบกับชีวิตจริง ถ้าเราลองมองย้อนกลับไป เรื่องเลวร้ายบางเรื่องที่เราเคยรู้สึกเสียใจกับมัน อาจกลับกลายเป็นเรื่องน่าขันเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว และเปลี่ยนความคิดที่เคยเสียใจกับมันกลายมาเป็นความยินดี
ยกตัวอย่างที่พบเจอได้บ่อย....
เมื่อเรารู้สึกผิดหวังจากการถูกให้ออกจากตำแหน่งงานในบริษัทที่เราทุ่มเทให้อย่างสุดกำลังในวันนี้ เรามักจะคิดว่าเรานั้นถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย ในวันข้างหน้าเมื่อเราสามารถหางานที่ดีกว่าได้ ขณะที่บริษัทเก่ากำลังมีท่าทีว่าจะปิดตัวลง เราคงจะหันไปขอบคุณโชคชะตา เพราะถ้าเราไม่ถูกให้ออกในวันนั้น เราอาจไม่พ้นต้องตกงานในเร็ว ๆ นี้อยู่ดี
หรือในวันที่เราอกหักและรู้สึกผิดหวังชอกช้ำและพาลโกรธโชคชะตาความรักที่เล่นตลกกับเรา เมื่อเวลาผ่านไปจนเราได้เจอกับคนที่เหมาะสมกับเรามากกว่า เราอาจจะมองว่า "ดีแล้วแหละ หากเราได้สมหวังกับคนที่หักอกเราในวันนั้น...ในวันนี้เราอาจไม่มีความสุขกับคนที่อยู่ข้าง ๆ เรามากขนาดนี้" ก็เป็นได้
เพราะการจากลาจากสิ่งหนึ่ง ย่อมนำพาให้เราได้พบเจอกับอีกสิ่งหนึ่ง
.สิ่งที่เราคิดว่าทำสำเร็จในวันนี้ อาจกลายเป็นความผิดพลาดในวันข้างหน้า
.ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจเป็นความสำเร็จที่แฝงเอาไว้ให้เราได้เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากมันในวันข้างหน้าเช่นกัน
ชีวิตย่อมมีขึ้นมีลง ยามขึ้นเพียงอย่าได้หลง และยามลงเพียงอย่าได้ท้อ
ความสุขทั้งปวง มาพร้อมกับความทุกข์เสมอ..
เช่นเดียวกัน ความทุกข์ทั้งปวง ย่อมแฝงไว้ด้วยความสุขบางประการ
ทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับดวงตาที่เปิดกว้าง มองเห็นภาพรวม และเข้าใจการมีอยู่และความเป็นไปของโลก รวมถึงการเลือกว่าจะหยิบจุดไหนมาเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต
การกระทำ (Action) ย่อมถูกสนองโดยผลของการกระทำ (Reaction) เสมอ
เราไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันดีหรือร้ายกันแน่ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรดีเลิศอย่างสิ้นเชิง และไม่มีอะไรเลวร้ายอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน... สรรพสิ่งทุกอย่างล้วนมีสองด้าน (Duality) เสมอ สิ่งเดียวที่จะตัดสินผลกระทบจากการกระทำต่าง ๆ ของสรรพสิ่งได้นั้นก็คือ "เวลา" เพราะเวลาคือสิ่งเดียวที่มั่นคงบนโลกใบนี้
จงมองและคิดให้รอบด้านอย่างมีมิติและเหตุผล จงอย่าเชื่อทุกสิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่ถูกสังคมตัดสินมาก่อนแล้วว่า "ดี" หรือ "เลว" คำโฆษณาสวยหรูต่าง ๆ แท้จริงแล้วมีไว้เพื่ออะไร
จงตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งถ้าพูดถึงการตั้งคำถาม เช่น "ใคร, อะไร, อย่างไร, ที่ไหน, เมื่อไหร่" (What, Where, When, Who, How) ที่เป็นคำถามที่ถูกใช้มากที่สุดในการเจาะจงไปที่ลักษณะของสิ่งที่อยากรู้ ทำให้ผู้ตอบดัดเปลี่ยนคำตอบที่เที่ยงธรรมให้กลายเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อได้ว่าสิ่งนั้น "ดี" หรือ "เลว" และสร้าง "อคติ" หรือ "ความดีความชอบ" ให้กับสิ่งที่ต้องการจะโฆษณา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะไม่มีวันรู้ความจริง
" นี่มันเกิด'อะไร'ขึ้นกันเนี่ย?!! "
" เป็นไปได้'อย่างไร'?!! "
" ตั้งแต่'เมื่อไหร่'?!! "
" 'ใคร'เป็นคนทำเนี่ย?!! "
.คำพูดเหล่านี้ อาจเป็นคำที่หลายคนใช้อุทานเวลาเจอเรื่องร้าย เป็นคำถามที่เป็นคำตอบไปในตัวว่าเรื่องที่ประสบพบเจออยู่นั้นเป็นเรื่องที่เลวร้าย และแสดงออกด้วยความรู้สึกโกรธ กลัว หรือประหลาดใจ และอาจจะตามมาด้วยคำว่า "โชคร้ายยิ่งนัก" เหมือนดั่งเพื่อนบ้านของเฒ่าซ่าย จนลืมคิดถึงเหตุผลว่า "ทำไม" (Why)
คำถามว่า "ทำไม" เป็นคำถามที่ใช้เพื่อเจาะจงหาเหตุผล จะทำให้ผู้ตอบลดการโฆษณาลงและเข้าสู่ "ความจริง" ที่เป็นกลางได้มากขึ้น จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการวิเคราะห์แยกแยะของตัวเราทั้งหมด
กระบวนการความคิดของมนุษย์บางคนอาจถูก "เป่าหู" มาอย่างไร้เหตุผลจนลืมไปเสียว่า ทุกสิ่งที่เกิดบนโลกย่อมมีเหตุผล และอธิบายได้เสมอ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์ที่คิดว่า "ดี" หรือ "ร้าย" จงนิ่ง อย่าพึ่งตื่นเต้นหรือตื่นกลัว และทำความเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งและมีเหตุผล เพราะธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งคือ การมีสองด้าน (duality) เสมอ
"塞 翁 失 马" - "ซ่าย เวิง ซือ หม่า" ได้กลายเป็นภาษิตสำนวนจีนที่มีความหมายตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า "blessing in disguise" และสามารถแปลต่อเป็นภาษาไทยได้ว่า "พรที่ปลอมตัวมา(ในรูปแบบของสิ่งไม่ดี)" หรือ "โชคในเคราะห์" ก็ได้ทั้งนั้น
ภาษาวัยรุ่นอย่างผมคงแปลว่า "โชคชะตาในหน้าของความซวย" นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น