ทีมสุขภาพจิตเร่งดูแลสภาพจิตใจครอบครัว “ทีมฟุตบอล” 13 คน พลัดหลงในถ้ำหลวง เผย ยังอยู่ในภาวะวิตกกังวล รอคอยอย่างมีความหวัง ส่งผลทำให้นอนไม่หลับ เร่งประเมินสภาวะเครียด วิตกกังวล ก่อนวางแผนดูแลจิตใจให้เหมาะสม วอนสังคมช่วยกันให้กำลังใจ เลี่ยงแชร์ข่าวที่อาจทำให้เกิดความสับสน
วันนี้ (26 มิ.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีดูแลจิตใจครอบครัวของนักเรียนทีมฟุตบอล “หมูป่า” อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมโค้ช รวม 13 คน พลัดหลงอยู่ภายในถ้ำหลวง ว่า ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 และโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ ได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ลงพื้นที่ปฏิบัติการให้การดูแลด้านจิตใจแก่ญาติของนักเรียนและโค้ช ร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของพื้นที่ อ.แม่สาย ซึ่งจิตใจของญาติอยู่ในสภาวะวิตกกังวล เป็นห่วงเกี่ยวกับความปลอดภัยและมุ่งที่จะติดต่อกับผู้ที่พลัดหลงในถ้ำให้ได้ เฝ้ารออย่างมีความหวัง ซึ่งอาจจะทำให้นอนไม่หลับ อ่อนเพลียได้ จึงขอให้ญาติตั้งสติ เนื่องจากขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอให้ครอบครัวและญาติช่วยเป็นกำลังซึ่งกันและกัน มั่นใจว่าผู้พลัดหลงทั้ง 13 คน เป็นทีมฟุตบอล ซึ่งจะมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งจากเล่นกีฬา มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ประการสำคัญมีทักษะประสบการณ์การเรียนลูกเสือมาระดับหนึ่ง จะสามารถเอาชีวิตรอดได้
“ขอให้สังคมช่วยกันส่งกำลังใจไปให้ทีมฟุตบอลที่พลัดหลงในถ้ำ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ ภาวนาอธิษฐานร่วมกันให้ทุกคนปลอดภัย ไม่ควรกล่าวโทษ หรือ ตำหนิใครในเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้ ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีความหวังดีด้วยกันทั้งสิ้น และขอให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารใกล้ชิดโดยติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการดูสื่อจากโซเชียลมีเดีย ที่แชร์ข้อความกัน เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนและ วิตกกังวล ตื่นตระหนกได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพจิตของครอบครัวและญาติผู้ที่พลัดหลงในถ้ำทั้ง 13 คน ที่ไปเฝ้ารอที่บริเวณหน้าถ้ำ ขณะนี้ยังดีอยู่ ทุกคนมีความหวังที่จะพบเด็กๆ โดยทั้งหมดอยู่ในความดูแลของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของโรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลแม่จัน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ในวันนี้ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของโรงพยาบาลสวนปรุงและศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ จะร่วมประเมินสภาวะเครียด วิตกกังวล ครอบครัวและญาติ รวมถึงแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตที่ซับซ้อนอื่นๆ ร่วมกับทีมในพื้นที่ เพื่อวางแผนการดูแลจิตใจได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที และเมื่อทีมเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือทั้ง 13 คน ออกมาได้แล้ว ก็จะร่วมให้การดูแลจิตใจร่วมกับทีมแพทย์ฝ่ายกายด้วย โดยเฉพาะสภาวะความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์