xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ชู “เชียงใหม่” ต้นแบบพัฒนาศักยภาพเด็กพิการในด้านนาฏศิลป์-ดนตรีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วธ. ชู “เชียงใหม่” ต้นแบบพัฒนาศักยภาพเด็กพิการในด้านนาฏศิลป์ - ดนตรีไทย เตรียมขยายผลโครงการทั่วทุกภูมิภาค สร้างโอกาสให้เด็กพิการทั่วประเทศ

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีไหว้ครูและเปิดการแสดง “นาฏศิลป์ ดนตรีไทยสำหรับผู้พิการ” ประจำปี 2561โดยนักเรียนผู้พิการด้านต่างๆ จากโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนกาวิละอนุกูล และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์แสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย อาทิ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉาและตอนยกรบ ฟ้อนขันดอก ฟ้อนสาวไหมแมงบ้ง เป็นต้น

นายวีระ กล่าวว่า วธ. ได้ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยไม่ทิ้งกันตามนโยบายของรัฐบาล โดยการส่งเสริมให้เด็กพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและได้รับการยอมรับจากสังคม ดังนั้น วธ. ได้จัดโครงการสอนนาฏศิลป์ดนตรีไทยให้แก่นักเรียนผู้พิการ โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และดำเนินการสอนโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ อีกทั้งได้คัดเลือกเด็กพิการในโครงการฯ ที่มีทักษะเป็นเลิศด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์โดยภาคเอกชนสนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งพบว่าเด็กพิการที่เรียนจบปริญญาตรีสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่นับว่าเป็นต้นแบบของโครงการฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ วธ. จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายผลโครงการไปสู่ทุกภูมิภาคเพื่อให้เด็กพิการทั่วประเทศมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย นอกจากนี้ วธ. จะนำนักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนกาวิละอนุกูล และ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ ไปแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย เพื่อฉลองในโอกาสที่ประเทศไทยเสนอโขนเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (ยูเนสโก) ทั้งนี้ คาดว่า ยูเนสโกจะพิจารณาและประกาศผลในปลายปีนี้ รวมถึงนำไปแสดงในงานวันเด็กแห่งชาติในปี 2562



กำลังโหลดความคิดเห็น