คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีไอคิวสูงหรือที่เรียกว่าเป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดทางด้านสติปัญญานั้นจะต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกๆด้าน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าไอคิว (I.Q.) คืออะไร
I.Q (Intelligence Quotient) หมายถึงความเฉลียวฉลาดทางด้านสติปัญญาซึ่งเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าคนที่จะมีความเฉลียวฉลาดทางด้านสติปัญญานั้น จะต้องมาจากพันธุกรรมคือจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและอีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่อยู่ล้อมรอบตัวของบุคคลนั้นๆนั่นเอง
ในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาไอคิวของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้เรียนพิเศษเสริมทางด้านวิชาการต่างๆอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่ปัญหาที่มักพบในยุคปัจจุบันนี้ก็คือพ่อแม่ไม่สนใจในการที่จะปลุกจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้นเราจึงพบว่ามีเด็กมากมายที่เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย สอบได้เกรดเฉลี่ยไม่ดีแทนที่จะพิจารณาตัวเองกลับไปโทษครูหรือด่าว่าทำร้ายครู เดินผ่านแล้วมองหน้ากันรู้สึกเขม่นไม่ถูกชะตาแล้วก็หาเรื่องชกต่อยกัน ซึ่งลักษณะตัวอย่างที่กล่าวมานั้นมักเกิดขึ้นกับคนที่มีอีคิวต่ำ ทีนี้มาดูกันว่าอีคิวหมายถึงอะไร
E.Q.(Emotional Quotient) หมายถึงความฉลาดทางด้านอารมณ์ ลักษณะของคนที่มีอีคิวสูงนั้น หมายถึงคนที่เข้าใจอารมณ์ของตัวเองได้ดีสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ โดยมีการแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและเป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อต้องประสบกับปัญหาต่างๆก็สามารถปรับใจปรับอารมณ์ของตัวเองได้และสามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นๆได้ด้วยความสงบและสุขุมเยือกเย็น
มาพิจารณาดูกันว่าเราเป็นคนที่มีอีคิวสูงหรืออีคิวต่ำ
ลักษณะของคนที่มีอีคิวสูง
1. ด้านความคิด คนที่อีคิวสูงจะคิดในทางที่สร้างสรรค์ คิดในการช่วยเหลือผู้อื่น คิดในการแก้ปัญหา คิดในการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือและพัฒนาสังคมและส่วนรวม
2.ด้านคำพูด คนอีคิวสูงจะพูดในสิ่งที่ก่อให้เกิดความร่วมมือความปรองดองและการให้กำลังใจกับผู้คนรอบข้างอีกทั้งจะไม่มีนิสัยชอบพูดจาให้ร้ายผู้อื่นหรือพูดในสิ่งที่ไร้สาระเพ้อเจ้อ
3. ด้านการกระทำ คนอีคิวสูงจะเป็นคนที่มีลักษณะของความเป็นผู้นำ มุ่งแต่จะทำในสิ่งที่ก่อประโยชน์ต่อตนเองผู้อื่นและสังคม อีกทั้งไม่มีนิสัยคดโกงหรือเบียดเบียนผู้อื่น
ลักษณะของคนอีคิวต่ำ
1. อีโก้สูง คนที่มีอีคิวต่ำมักจะมองว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่งและไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มักเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เวลามีปัญหาอะไรจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ เมื่อไม่พอใจก็จะแสดงอารมณ์ออกมาหมดในแบบของ"มนุษย์ป้า&มนุษย์ลุง"โดยไม่สนใจว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นจะมีความเสียหายมากเพียงไร
2. ก้าวร้าว คนที่อีคิวต่ำมักเป็นคนที่ใจร้อนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เมื่อรู้สึกไม่พอใจก็จะดุด่าว่ากล่าวตำหนิหรือทำร้ายผู้อื่นอย่างรุนแรง โดยที่ไม่สนใจด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไปนั้นจะไปทำร้ายจิตใจของคนอื่นมากน้อยเพียงใด
3.ชอบโชว์ นี่ก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งของคนที่มีอีคิวต่ำคือการชอบเป็นจุดสนใจของผู้อื่นเป็นอย่างมาก โดยสามารถลงทุนทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเด่นดังไม่ว่าจะเป็นการแก้ผ้าโชว์เรียกยอดไลค์ในโลกออนไลน์ เป็นต้น
วิธีเพิ่มความฉลาดทางด้านอารมณ์
1.ฝึกทบทวนและสังเกตอารมณ์ของตนเอง นับว่าเป็นวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการเพิ่มอีคิวของตัวเอง โดยในแต่ละวันนั้นให้จดบันทึกเรื่องราวและรูปแบบของอารมณ์ตัวเองที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโกรธเมื่อถูกตำหนิความรู้สึกน้อยใจที่ตนเองไม่ได้รับคำชม ความสนุกสนานเมื่อได้พูดคุยกับเพื่อน ความรู้สึกดีใจที่ได้รับคำชมจากเจ้านายหรืออารมณ์อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ก็ให้จดบันทึกเอาไว้ แล้วหลังจากนั้นให้กลับมาอ่านทบทวน จะทำให้เราได้รับรู้ถึงอารมณ์ของตนเองเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขอารมณ์ที่แย่ๆเพื่อเป็นการพัฒนาความฉลาดทางด้านอารมณ์ของตนเองนั่นเอง
2. อ่านปฏิกิริยาทางด้านร่างกายที่สัมพันธ์กับอารมณ์ ร่างกายของเรานั้นมีความสัมพันธ์และแยกไม่ออกกับอารมณ์เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาตามอารมณ์ของเรานั้นเราจะสามารถสังเกตอารมณ์ของเราได้ว่าในขณะนั้นอารมณ์ของเราเป็นอย่างไรและควรระงับปรับเปลี่ยนอารมณ์ของตนเองอย่างไรบ้าง อารมณ์มีผลกับร่างกายของเรา ดังนี้
เมื่อวิตกกังวล สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (Stress Hormone) ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยตึงตามร่างกาย มีอาการปวดศรีษะ หายใจเร็วขึ้น เหนื่อยง่าย เพลีย
เมื่อโกรธ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายจะเกร็งตัวมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอย อีกทั้งส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง คนที่มีอารมณ์โกรธและก้าวร้าวบ่อยๆจึงมักจะมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวและหนักหัวอยู่เป็นประจำ
เมื่อเศร้าเสียใจ จะเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งเวลาที่ตื่นนอนอีกทั้งจะรู้สึกแขนขาหนักหนัก มีอาการหายใจไม่ค่อยอิ่มและแน่นหน้าอก
3. ฝึกในการแสดงออกทางด้านอารมณ์ แท้จริงแล้วอารมณ์เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้และสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราจะแสดงอารมณ์แบบไหนออกไป ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่มีคนทำให้เราไม่พอใจแทนที่เราจะแสดงออกโดยการแสดงอารมณ์โกรธออกไป เราก็สามารถที่จะเลือกที่จะควบคุมอารมณ์ให้สงบโดยการนิ่งไม่โต้ตอบใดใดออกไป
4.การฝึกยอมรับความเป็นจริงของโลก อาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราสามารถที่จะฝึกได้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราต้องประสบกับเหตุการณ์ผิดหวังหรือพบกับเรื่องที่ไม่เป็นไปอย่างใจที่เราคิด บางคนที่อีคิวต่ำก็อาจจะใช้วิธีประชดชีวิตโดยการทำร้ายตนเองหรือทำร้ายคนอื่น บางคนก็ไปดื่มเหล้าใช้สารเสพติด แต่แท้จริงแล้วเราสามารถที่จะฝึกอารมณ์ให้ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้โดยการทบทวนอารมณ์ของตัวเองและยอมรับความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่แม้วันนี้เราผิดหวังพรุ่งนี้เราก็มีโอกาสที่จะสมหวังได้
5. พึ่งพาศาสนา นับเป็นวิธีหนึ่งที่ดีมากในการฝึกพัฒนาให้เราเป็นคนที่มีอีคิวสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นคนที่เป็นพุทธก็ไปเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ คนที่เป็นคริสต์ก็ไปนมัสการพระเจ้าฟังคำเทศนาที่โบสถ์และอ่านพระคัมภีร์ คนที่เป็นอิสลามก็ทำละหมาดไปมัสยิดและอ่านคัมภีร์อันกุรอาน
ซึ่งหลักคำสอนของทุกๆศาสนานั้นล้วนสอนให้คนรู้จักสงบจิตสงบใจคิดดีพูดดีและทำดีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการใกล้ชิดศาสนาจะเป็นการวิธีการที่ช่วยพัฒนาอีคิวของบุคคลนั้นๆให้สูงขึ้นได้
อีคิว( E.Q.)เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ไม่ว่าตอนแรกมันจะสูงหรือต่ำแค่ไหน ขอเพียงเราเปิดใจและมีความมุ่งมั่นที่จะรับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงก็พอ จำไว้ว่าจง"อย่าเป็นคนไอคิวสูงแต่อีคิวต่ำ"กันเลย