xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ “โบราณสถาน-อุทยานฯ”ผ่านเทคโนฯสมัยใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตั้งเป้าพัฒนาโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ศาสนสถานพิพิธภัณฑ์ ต้นไม้สำคัญที่เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินและอื่นๆในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หากสถานที่เหล่านี้ได้รับความสนใจมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไม่ขาด สิ่งที่จะตามมีก็คือการสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อครั้งประชุม ครม.สัญจร จ.นครสวรรค์ ตนได้ไปตรวจยี่ยมชมโบราณสถานและติดตามการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพโบราณสถานใน จ.พิจิตร 2 แห่ง ได้แก่ วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากรและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี 2478 สร้างขึ้นระหว่างปี 2242 - 2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น อายุกว่า 300 ปี ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์ยังใช้อุโบสถหลังนี้ปฏิบัติศาสนกิจ อีกทั้ง ชาวบ้านนับถือหลวงพ่อโตจะมากราบขอพรอย่างสม่ำเสมอ

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณสถานเพิ่มเติม เพื่อสร้างศูนย์บริการข้อมูลนําเสนอภาพการจําลองสภาพวัดโพธิ์ประทับช้างที่มีความสมบูรณ์ในอดีต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งวัดโพธิ์ประทับช้างมีหลักฐานสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ อย่างไรก็ตาม ถ้าศูนย์บริการข้อมูลนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง

บรรยากาศในวันที่ลงพื้นที่ได้มีคณะนักเรียนโชว์การแสดงศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทย นับว่าเป็นจุดเด่น ถ้าหากมีการจัดตารางแสดงโชว์วัน เวลา ไว้อย่างชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ มั่นใจว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนวัดโพธิ์ประทับช้างเพิ่มขึ้น

อีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อุทยานเมืองเก่าพิจิตร สร้างขึ้นในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี 1601 ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี 2475 มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบด้วย กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ ภายในอุทยานฯยังมีแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ศาลหลักเมือง เจดีย์มหาธาตุ เกาะศรีมาลา ถ้ำไกรทอง-ชาละวัน หากนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ฟัง จะเป็นแหล่งเรียนรู้รากเหง้าของชาวพิจิตรได้ สร้างความภาคภูมิให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย

“จะให้มาเดินชมแหล่งประวัติศาสตร์ผ่านอิฐ ซากปรักหักพัง บางคนจินตนาการไม่ออกว่าในอดีตยิ่งใหญ่ สวยงาม อย่างไร ดังนั้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ จำลองภาพและเล่าประวัติความเป็นมา ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ เป็นการปูพื้นความรู้ ก่อนเดินชมสถานที่จริง น่าจะจูงใจ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวเรียนรู้โบราณสถาน อุทยานฯ เพิ่มขึ้น “

พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนอกจากโบราณสถานแล้ว ยังมีต้นไม้สำคัญที่ วธ.ประกาศเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน รวม 6 ต้น ได้แก่ ต้นศรีมหาโพธิ์ จ.กำแพงเพชร ต้นมะขามไทยทรงดำ จ.นครสวรรค์ ต้นตะเคียนนางไม้ จ.พิจิตร ต้นผึ้งยักษ์ ต้นมะค่ายักษ์ ต้นพระเจ้าห้าองค์ จ.อุทัยธานี ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถไป แซะ แชร์ภาพเป็นที่ระลึกได้ อย่างไรก็ตาม การประกาศต้นไม้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน ยังกระตุ้นให้ทุกคนหันมารักต้นไม้ ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ตัดไม้ทำลายป่า

นายวีระ กล่าวว่า วธ.ส่งเสริมเทศกาลประเพณี เพื่อสืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ตรุษจีนปากน้ำโพ งานนมัสการหลวงพ่อเพชร แข่งเรือยาว เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมศิลปิน การแสดงพื้นบ้านและมรดกภูมิปัญญา ได้แก่ ลิเก เพลงพื้นบ้าน และได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 12 รายการ อาทิ แข่งเรือ ภาษาก๋อง รำโทน วงมังคละ ลิเกป่า เพลงฉ่อง ตำนานชาละวันและผ้าทอไทยครั่ง เป็นต้น
“มีนโยบายอนุรักษ์การแสดงพื้นบ้านไม่ให้สูญหาย ด้วยการขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น หากมีการจัดงานให้นำไปจัดแสดง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น”

ขณะที่ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 341 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบึงสีไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกพื้นที่ตื้นเขินในบึงสีไฟเพื่อจะทำเป็นแก้มลิงให้สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงศาลากลางน้ำ และสถานีแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด จัดทำโครงการลู่วิ่ง เส้นทางจักรยานรอบบึงสีไฟ เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ใช้เป็นสถานที่พักผ่อน มั่นใจว่าหากบึงสีไฟดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นสถานทีท่องเที่ยวหลากหลายมิติ

...หลายหน่วยงานระดมพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทาง ททท. ภาครัฐ เอกชน ชุมชน ต้องร่วมกันโปรโมท ชูของดี ของเด่น จุดประกายให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยือน







กำลังโหลดความคิดเห็น