xs
xsm
sm
md
lg

ต่อลมหายใจ ให้ "เด็กแรกคลอด" ได้มีโอกาสกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนทั่วไปสามารถสูดลมหายใจเข้าออกให้เต็มปอดได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องไขว่คว้าแก่งแย่งกับใคร จนหลายคนแทบไม่รู้ตัวว่าลมหายใจมีค่าเพียงใด แต่ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก มีผู้ป่วยเด็กจำนวนมากที่ทุกข์ทรมานกับความพยายามในการสูดลมหายใจเฮือกเกือบสุดท้าย และไม่เคยกลับสู่บ้าน สู่อ้อมกอดอบอุ่นจากพ่อแม่เลย เนื่องจากต้องนอนโรงพยาบาลมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก พร้อมกับการมีเครื่องช่วยหายใจติดตัว ต้องนอนเตียงตลอดเวลา

ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจของ รพ.เด็ก ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องรับดูแลผู้ป่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิด น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1 กิโลกรัมจนถึงเด็กโตอายุ 18 ปีที่เจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยหลายรายถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจหลากชนิด เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยวัย น้ำหนักตัวและพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน รพ.เด็ก ยังมีเครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้ที่บ้านในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังจากการเกิดก่อนกำหนดหรือจากปอดอักเสบรุนแรง โรคสมองหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหัวใจ โรคพันธุกรรมต่างๆ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่เคยได้กลับบ้านตั้งแต่เกิด หรือต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลามากกว่า 1 ปี เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาเครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้ต่อเนื่องที่บ้านได้ ความฝันของพ่อแม่เด็กป่วยเรื้อรังระบบหายใจ ที่มีปัญหาเช่นนี้ต่างก็อยากให้เด็กได้กลับบ้าน

ทำไม... จึงต้องมีเครื่องช่วยหายใจประจำตัว ให้น้องได้กลับบ้าน

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เครื่องช่วยหายใจไม่ได้เป็นเพียงแค่ปอด แต่ยังเปรียบเหมือนสมองที่ช่วยส่งสัญญานกระตุ้นจังหวะการหายใจ การนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานๆ นับเป็นผลเสียต่อเด็กป่วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและปอดบวมซ้ำซ้อน จนสุดท้ายภาวะติดเชื้ออาจเป็นมัจจุราชที่คร่าชีวิตหนูน้อยไปจากอ้อมอกพ่อแม่ นอกจากนี้ จะทำให้เด็กขาดโอกาสชีวิตในการพัฒนาทั้งด้านสังคม อารมณ์ อาจมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าวัย ขาดโอกาสรัก ความผูกพันกับญาติมิตรในครอบครัวอีกหลายท่าน พ่อหรือแม่ที่ต้องทุ่มเวลามาเฝ้าน้องใน รพ.ตลอดเวลาเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา พี่ที่บ้านอาจต้องรอด้วยความรู้สึกกลัว หรือ ไม่มั่นคง เนื่องจากไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตนเองหรือเวลาได้ว่าเมื่อไร แม่และน้องจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากับตนเอง อาจทำให้เขาไม่มีความมั่นคงทางใจ ผู้ป่วยเด็กที่เกิดความผิดปกติเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจมาจากสาเหตุต่างๆอาทิ เกิดก่อนกำหนด ปอดอักเสบรุนแรง หลอดลมโป่งพอง พังผืดในปอด โรคสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหัวใจในโรคอ้วน ผิดปกติทางเดินหายใจขณะหลับ ฯลฯ

พญ.พนิดา ศรีสันต์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ ยกตัวอย่างผู้ป่วยในความดูแล 2 รายที่ประสบปัญหาดังกล่าว รายแรก "น้องวาริน" เด็กน้อยคลอดก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 28 สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิด 2,000 กรัม ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายน้องยังไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ มีความผิดปกติในเรื่องของระบบทางเดินหายใจ (หลอดลมอ่อนตัว) และลำไส้ไม่มีปมประสาทในบางส่วน ต้องได้รับการผ่าตัดในเรื่องของลำไส้และเจาะคอในส่วนของระบบทางเดินหายใจ และยังมีอาการแทรกซ้อน เนื่องจากร่างกายไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีอาการปอดติดเชื้อรุนแรงและมีการติดเชื้อทางกระแสเลือด ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ครอบครัวเราเกือบสุญเสียลูกไปแล้ว แต่ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ จาก รพ.เด็ก ได้ช่วยเหลือน้องเต็มอย่างเต็มที่ จึงได้ลูกกลับคืนสู่อ้อมกอด จากการเข้ารักษาที่ รพ.เด็ก น้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกๆคน เป็นอย่างดี คอยดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลและให้คำแนะนำ ในการดูแลน้องเป็นระยะ ปัจจุบันน้องวาริน อายุ 1 ปี 1 เดือน ยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จนกว่าหลอดลมจะแข็งตัวขึ้นและสามารถหายใจได้เอง ซึ่งคุณพ่อกับคุณแม่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “น้องวาริน” จะสามารถหายใจได้เองและหายเป็นปกติในเร็ววันนี้

อีกราย “น้องไก่” เพียงแค่ลืมตามาดูโลก ขณะอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดออกซิเจน ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง สมองขาดเลือด ต้องใส่ท่อหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่แรกคลอด เมื่อทีมกุมารแพทย์ของสถาบันฯ ได้ช่วยเหลือน้องจนพ้นภาวะวิกฤติ และสืบค้นจนพบว่าน้องเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง คือ Prader Willi syndrome ที่จะพบความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน หนึ่งในความผิดปกติคือความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำ ทำให้ตัวอ่อนปวกเปียก และที่สำคัญคือน้องไม่สามารถไขว่คว้าลมหายใจได้ด้วยตัวเอง ในยามที่ร่างกายขาดออกซิเจนสมองที่ควบคุมการหายใจกลับไม่สามารถส่งสัญญานกระตุ้นให้ร่างกายสูดลมหายใจเข้าสู่ปอดได้ นั่นคือเครื่องช่วยหายใจเปรียบเหมือนตัวชี้ชะตาการอยู่รอดของน้อง....ในทุกวินาที

เครื่องช่วยหายใจประจำตัว จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล และยังทำให้เด็กได้มีโอกาสกลับไปอยู่ในความรักของครอบครัวที่อบอุ่น

พญ.พนิดา ให้ความเห็นว่า เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังทางระบบหายใจบางราย ในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นการทำงานของปอดและสมองอาจจะค่อยๆ ดีขึ้น จนเด็กสามารถหายใจด้วยตนเองได้ การช่วยให้ผู้ป่วยเด็กได้กลับบ้านโดยเร็ว พร้อมเครื่องช่วยหายใจประจำตัว จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล เด็กได้มีโอกาสกลับไปอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ได้ผลัดเปลี่ยนกันดูแลและพักผ่อนบ้าง ทำให้ไม่เครียด เกิดพลังในการดูแลลูกและดำเนินชีวิต รวมทั้งพ่อแม่ยังมีโอกาสแบ่งเวลาไปดูแลพี่น้องคนอื่นๆ ของเด็กอีกด้วย เปิดโอกาสให้เด็กที่เจ็บป่วยหนักในระยะวิกฤติและต้องใช้เครื่องช่วยระยะสั้นรายอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้ามารักษาในโรงพยาบาลแทนเด็กป่วยที่ได้กลับไปรับไออุ่นและพักที่บ้านพร้อมเครื่องช่วยหายใจ ความฝันของพ่อแม่เด็กผู้ป่วยเด็กป่วยเรื้อรังของระบบหายใจรายอื่นๆ ที่มีปัญหาเช่นนี้ ต่างก็อยากให้เด็กได้กลับบ้าน หากแต่ราคาเครื่องช่วยหายใจ เป็นราคาที่สูง ช่างเกินกำลังของพ่อแม่นัก

มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี เชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ มอบโอกาสรัก มอบโอกาสชีวิต ให้พ่อแม่ได้มีโอกาสที่จะรักลูก ได้อยู่พร้อมหน้าอย่างอบอุ่นกันไปตราบนานเท่านาน โดยการบริจาคทุนทรัพย์ร่วมสบทบทุนซื้อเครื่องช่วยหายใจ เพื่อผู้ป่วยเด็กโรคป่วยเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน ไม่เพียงแต่ได้ร่วมกัน ให้โอกาสให้ผู้ป่วยเด็กได้กลับสู่อ้อมกอดครอบครัว แต่ยังมอบโอกาสให้เด็กที่เจ็บป่วยหนักในระยะวิกฤติและต้องใช้เครื่องช่วยระยะสั้นรายอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้ามารักษาในสถาบันฯ แทนที่เด็กทั้งสองซึ่งได้กลับไปรับไออุ่นจากครอบครัวอีกด้วย

ช่องทางการบริจาค มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กองทุนอาคารฯ - ธ.ไทยพาณิชย์ กระแสรายวัน สาขาราชวิถี เลขที่ 051-301713-0 รายละเอียดเพิ่มเติมโทร 088 874 4671/089 141 1523 www.givetochild.com


กำลังโหลดความคิดเห็น