เด็กทุกคนล้วนเคยผ่านการจับดินสอมาแล้วทั้งนั้น เจ้าต้นคนโต "สรวง สิทธิสมาน" ก็ผ่านการจับดินสอมาแล้วเช่นกัน แต่การจับดินสอของเขามีเรื่องราว มุมมองที่สะท้อนชีวิตและสังคมได้อย่างน่าสนใจ..!
........................................
ในสมัยเด็ก เชื่อว่าทุก ๆ ท่านจะต้องเคยถูกสอนให้เริ่มต้นทำในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเดิน การเคี้ยวอาหาร การพูดการจา เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิต และใช้ต่อยอดการเรียนรู้ต่อไป
การเรียนรู้ในเบื้องต้นของเด็กปฐมวัย ก็จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านทักษะการพูด ฟัง อ่าน เขียน และปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นจากห้องเรียนในโรงเรียน
หนึ่งในทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งและต้องฝึกตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ....
“การจับดินสอ"
การจับดินสอที่ถูกต้องนั้น ต้องใช้นิ้วจับทั้งหมด 3 นิ้ว คือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง โดยดินสอจะต้องถูกบีบไว้ระหว่างปลายนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ โดยแท่งดินสอจะถูกวางอยู่บนข้อของนิ้วกลาง ส่วนอีก 2 นิ้วที่เหลือคือนิ้วนางและนิ้วก้อยนั้นจะใช้วางเป็นฐานเพื่อให้ 3 นิ้วแรกควบคุมการวาดเขียนอย่างสะดวก
ผมได้ลองหาอ่านบทความมากมายเกี่ยวกับการจับดินสออย่างถูกต้อง ทั้งจากสื่อ สถาบันการศึกษา และนักวิจัย ทุกฝ่ายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการจับดินสอนั้นส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ และลายมือการเขียน บางเจ้าถึงกับบอกว่าการจับดินสอที่ผิดนั้นส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้า คนที่จับดินสอผิดนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข
ได้แต่สงสัยว่า "จำเป็น" ด้วยจริง ๆ หรือ ?
เพียงแค่เราจับดินสอไม่ถูกวิธีจะทำให้เราไม่สามารถวาดรูปหรือเขียนหนังสือได้อย่างที่ใจเราต้องการเลยหรือ ?
แน่นอนว่าการจับดินสอได้อย่างถูกต้องย่อมเป็นผลดี แต่หากรูปแบบการจับดินสอในแบบที่เรา "ถนัด" มันดันไม่ตรงกับในรูปแบบที่มัน "ถูกต้อง" ล่ะ ?
วันหนึ่ง ขณะกำลังนั่งเรียนอยู่ เพื่อนร่วมคลาสชาวญี่ปุ่นที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผมก็เอ่ยถามขึ้นมาเป็นภาษาจีนว่า
"ปกติแล้วคนไทยจับปากกาอย่างนี้เหรอ"
อ้อ ! เกือบลืมบอกไปว่าผมเป็นหนึ่งในบุคคลที่จับดินสอผิดวิธีมาตั้งแต่เด็ก
เท่าที่จำความได้ ผมเป็นเด็กที่เริ่มจับดินสอตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในชั้นอนุบาล คุณพ่อคุณแม่บอกว่าพวกท่านยื่นกระดาษและดินสอให้ผมได้ฝึกวาดภาพตั้งแต่ผมยังเดินไม่คล่องเลยด้วยซ้ำ จะไปเที่ยวที่ไหนใกล้ไกลในหรือนอกประเทศ อุปกรณ์ติดตัวคุณแม่ที่ขาดไม่ได้คือย่ามใส่ดินสอ ปากกา สี และกระดาษสำหรับให้ลูกขีดเขียนวาดภาพ
การจับดินสอของผม ใช้ข้อที่หนึ่งของนิ้วกลางและนิ้วโป้งเป็นหลักในการกำบีบดินสอ และใช้ข้อนิ้วชี้ช่วยประคองควบคุมทิศทางในการเขียน ส่วนนิ้วก้อยและนิ้วนางจะทำหน้าที่เป็นฐานในการลงน้ำหนัก ซึ่งในบางครั้งนิ้วนางจะสามารถใช้แทนนิ้วกลางได้ โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อลายมือ
จนมาถึงตอนนี้ ผมก็จับดินสอผิดมาเกือบจะครบ 20 ปีเสียแล้ว และถ้าบอกให้ฝึกจับดินสออย่างถูกต้องอีกครั้ง ก็คงเป็นไปไม่ได้
ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่ก็เคยสังเกต เพื่อนสมัยประถมก็เคยล้อ ครูภาษาไทยบางท่านก็เคยพยายามฝึกให้ผมจับดินสออย่างถูกต้อง ผมเองก็เคยพยายามมาหลายครั้งแล้ว เพราะกลัวว่าตัวเองจะเขียนช้า เขียนลายมือไม่ดี แต่ถึงพยายามจับในวิธีที่พวกเขาสอนอย่างไรก็ไม่คุ้นชินเสียที ครั้งหนึ่งผมถึงกับเครียดเพราะคิดว่าตังเองมีนิ้วที่ผิดปกติจนจับดินสอแบบที่คนอื่นจับกันไม่ได้ จนค้นพบและยอมรับจริง ๆ ว่า ผมต้องจับในแบบที่ผมถนัดเท่านั้น ถึงจะวาดรูปเขียนหนังสือได้จริง ๆ
และตอนนี้ ผมก็ได้ผ่านการทำหน้าที่เป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งในมหานครเซี่ยงไฮ้มาแล้ว
กลับมาที่เรื่องเพื่อนร่วมคลาสชาวญี่ปุ่น...
ผมได้ตอบเขาไปว่า
"ไม่หรอก คนไทยก็จับดินสอปกติแบบคุณนั่นแหละ มีแต่ผมที่จับผิด ๆ แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก"
"แล้วพ่อแม่ไม่ว่าเหรอ" เพื่อนถาม
"พ่อแม่เคยสังเกตและถามนะ แต่ไม่ถึงกับว่าอะไร" ผมตอบ
"ดีนะ สมัยผมเด็ก ๆ เนี่ย ผมก็จับดินสอผิดแบบคุณนั่นแหละ จนพ่อแม่ของผมต้องหาวิธีมากมายมาแก้ปัญหานี้ ทั้งให้คัดลายมือ หรือหาเครื่องมืออุปกรณ์มาใช้เพื่อช่วยให้ผมจับดินสอได้อย่างถูกต้อง ผมต้องอดทนอยู่หลายปี จนในที่สุดผมก็จับดินสอได้อย่างคนอื่นเสียที" เขาพูดกับผมพลางละเลงลวดลายตัวอักษรจีนลงไปในสมุดแบบฝึกหัดอย่างคล่องแคล่ว
เรื่องนี้ทำให้นึกขึ้นได้ว่าตัวเองนั้นจับดินสอผิดมาโดยตลอด โดยก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาหลายปีมากแล้ว
ขนาดของมือ ความกว้างยาวของนิ้ว ของคนหลักพันล้านคนบนโลกนี้ล้วนแตกต่าง แต่กลับบอกว่าวิธีจับดินสออย่างถูกต้องมีเพียงรูปแบบเดียว !
แน่นอนว่าหากจับดินสอได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถวาดเขียนได้ดีในระดับมาตรฐานอย่างแน่นอน แต่หากว่าการจับดินสอแบบที่ถูกต้องมันดันไม่ตรงกับแแบบที่เราถนัดแล้ว มันจำเป็นขนาดนั้นหรือไม่ที่จะต้องพยายามเปลี่ยนความถนัดของเราให้กลายเป็นแบบเดียวกับความถูกต้องสำหรับคนอื่น ?
อะไรที่เรียกว่า "ความถูกต้อง" ล่ะ ?
บางที เรื่องการจับดินสออย่างถูกต้องอาจเป็นเพียง "มายาคติ" ที่เราพบเจอมาตั้งแต่สมัยหัดเดินเลยด้วยซ้ำ
และถ้าพูดถึงหลังจากนั้นล่ะ ? หลังจากที่คุณสามารถจับดินสอเหมือนแบบที่แทบทุกคนทำได้แล้วล่ะ ?
คุณอาจจะเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จเล็ก ๆ นี้ เพราะทั้งพ่อแม่และครูบาอาจารย์ต่างก็ชมคุณว่า "เก่งมาก" ทำให้คุณมีกำลังใจทำในสิ่งที่พวกท่านบอกต่อไป เพื่อที่จะได้เป็นที่ "ยอมรับ" ในสังคม เพื่อที่จะได้เป็นคนเก่งและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ย้อนกลับมาดูที่ตัวเอง...
ผมกลับเลิกคิดที่จะพยายามเป็นแบบคนอื่น และเดินบนเส้นทางที่ตัวเองเป็นคนกำหนด เส้นทางที่คิดว่ามันเหมาะสมกับตัวผม เป็นเส้นทางที่ "ถูกต้อง" สำหรับตัวผม เส้นทางที่ใครหลายคนอาจไม่เข้าใจ ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่เส้นทางที่ดิ่งลงเหว ไม่ใช่เส้นทางที่ทำร้ายหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของใครเขา หากแต่เป็นเส้นทางที่ตัวผมตีความมันขึ้นมาเอง โดยมีบุคคลและเหตุผลต่าง ๆ รอบตัวในสังคม รวมถึงความรู้จากหนังสือและประสบการณ์ชีวิต ทุกอย่างเป็นเพียงแรงผลักดันให้ผมออกแบบก้าวเดินใหม่ ๆ ที่จะเอาไว้ใช้เดินไล่ตามสิ่งที่ตัวผมปรารถนา และมีความสุขกับสองข้างทางก่อนจะบรรลุเป้าหมายที่อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรอย่างใครเขา
ถึงแม้ว่าจะจับดินสอผิดวิธี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวาดฝันเองไม่ได้หรอก !
ผมจะจับดินสอด้วยวิธีของผม และวาดภาพชีวิตของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ปล่อยให้สังคมจอมบงการมาเติมแต้มริ้วรอยบนศิลปะที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเองชิ้นนี้.....
การทำอะไรที่เราคิดเองได้ว่าดี โดยไม่สร้างความลำบากให้กับสังคมก็เหมือนกับผลงานศิลปะที่เราคิดจะสร้างขึ้นด้วยใจบริสุทธิ์ มันย่อมดีกว่าการปล่อยให้สังคมมาแต่งเติมงานศิลปะของคุณด้วยสีที่คุณไม่ชอบ ให้คนอื่นเข้ามามีบทบาทกับคุณมากเกินไปจนตัวคุณนั้นไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงเลย....ศิลปะชิ้นนั้นก็จะไม่ใช่ของตัวคุณอีกต่อไป
หากคนอื่นบอกว่าอะไรดีแย่เราก็จำเป็นต้องเห็นด้วยไปหมด...โดยไม่เคยคิดจะตั้งคำถามโต้แย้ง
แบบนั้นมันจะต่างอะไรจากหุ่นยนต์ที่คิดเองไม่ได้และต้องคอยถูกป้อนคำสั่งเท่านั้น ?
ในอนาคตถ้าหากปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์พัฒนาไปไกลล้ำจนสามารถมีความคิดเป็นของตัวเองได้จริง ๆ แล้ว...
มนุษย์ล่ะ จะยังเหลือที่ยืนบนโลกนี้ต่อไปอีกไหม ?