xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.ลั่น TCAS ปี 62 แก้กันที่ได้แน่ ใช้เวลากระชับขึ้น ด้านนักจิตวิทยาแนะวิธีลดเครียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทปอ. ลั่น TCAS ปีหน้า แก้เรื่องกันที่ได้แน่นอน เผยมีวิธีแล้ว แต่ยังต้องหารือมหาวิทยาลัยให้ร่วมมือ พร้อมทำให้ระบบกระชับขึ้น ไม่ใช้เวลานานเหมือนปีนี้ ย้ำเด็กไม่ต้องสอบทุกรอบ แต่ให้เลือกรูปแบบการเข้ามหาวิทยาลัยที่เหมาะกับตนเอง ด้านนักจิตวิทยาชี้การผิดหวังจากการสอบหลายรอบ ทำให้เด็กเครียดและกลัว สูญเสียความมั่นใจ แนะพ่อแม่แค่สนับสนุน อย่าลงไปกดดันเด็ก ปล่อยให้เด็กสมหวังผิดหวังและจัดการตนเอง

วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 13 “ทีแคส-ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย” โดย ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ที่มีทั้งหมด 5 รูปแบบ คือ พอร์ตฟอลิโอ โควตา รับตรงร่วมกัน แอดมิชชัน และรับตรงอิสระ เนื่องจากต้องการให้โอกาสเด็กว่าเขามีความเหมาะสมกับการเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบใด ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างในรอบพอร์ตฯ ก็เพื่อให้คนที่มีความสามารถเฉพาะทางแต่ไม่ได้เก่งมากมีโอกาสได้เข้าเรียน หรืออย่างโควตาก็เพื่อให้โอกาสเด็กในพื้นที่เป็นหลัก บางคนไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเข้าในทุกรอบ แต่ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเรา ซึ่งจริงๆ แล้ว TCAS รุปแบบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย เพราะมหาวิทยาลัยก็ยังกำหนดเกณฑ์ในการรับเอง แอดมิชชันก็ยังใช้เกณฑ์เหมือนเดิม เพียงแต่ TCAS เข้ามาจัดระบบให้เกิดการเคลียริงเฮาส์ 1 คน 1 สิทธิ์เท่านั้น แต่ที่เป็นปัญหาเพราะระบบทำให้เห็นปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรมมาตลอดปรากฏขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่ 3 คือ รับตรงร่วมกัน คือ 1. เด็กที่สอบกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) มีการกันที่ และการไม่จัดลำดับ ซึ่งในปี 2562 เราจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้แน่นอน ซึ่งขณะนี้เราเห็นวิธีแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอย่างมาก และ 2. ระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปจากรูปแบบที่ 1 - 5 ซึ่งปี 2562 จะกระชับขึ้น และจะสามารถจบกระบวนการได้เร็วขึ้น ภายในวันที่ 10 ก.ค. เหมือนปีก่อนๆ ให้ได้

“ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องการรับตรงเอง เพราะได้รับโจทย์มาจากอุตสาหกรรมว่าต้องการคนออกไปแบบไหน จึงต้องมาหาคนที่เก่งที่สุดเข้ามา เพราะการรับพร้อมกันอย่างแอดมิชชันมีปัญหาเรื่องของข้อสอบใช้วัดไม่ได้ รวมถึงการปล่อยเกรด อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า ระบบไม่ต่างจากเดิม ซึ่งที่ ทปอ. สัญญาว่าเปลี่ยนแปลงจะบอกล่วงหน้า 3 ปี คือ แอดมิชชัน แต่ปีนี้แอดมิชชันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ระบบอื่นๆ ก็เหมือนเดิม มหาวิทยาลัยยังรับตรงด้วยเกณฑ์ตัวเองเหมือนเดิม แต่แค่จัดระบบให้เกิดเคลียริงเฮาส์ 1 คน 1 สิทธิ์เท่านั้น” ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

นายมนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาแอดมิชชัน เว็บไซต์ Dek-D.com หรือ พี่ลาเต้ กล่าวว่า ปัญหาของระบบ TCAS คือ หลังจาก ทปอ. แถลงเปิดตัวแล้ว ไม่มีการนำมาทดลองใช้ก่อน แต่กลับนำมาใช้เลย โดยแถลงเมื่อ 1 มิ.ย. 2560 แต่นำมาใช้เดือน ต.ค. 2560 แค่เพียงแค่ 4 เดือน ถือเป็นการผิดสัญญาที่ว่าหากจะเปลี่ยนระบบควรจะต้องบอกล่วงหน้า 3 ปี ทำให้เมื่อนำมาใช้จริงกับนักเรียนจึงเกิดปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้ว TCAS ถือว่ามีทฤษฎีที่สวย เพราะแก้ปัญหาเรื่องลดค่าใช้จาย การสอบให้อยู่หลังจบ ม.6 เพื่อดึงเด็กให้อยู่ในชั้นเรียน จัดระเบียบการรับตรงให้มีความพร้อมเพรียงกัน เป็นต้น แต่ว่าอาจมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีหรือเรื่องของการสื่อสารไม่เข้าใจ เช่น การสอบที่ใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้เด็กเกิดความเครียด และวิชาที่ต้องสอบมีความซ้ำซ้อนจากการสอบทั้งโอเน็ต แกต แพต เช่น สอบภาษาไทย หรือ คณิตศาสตร์ ต้องสอบถึง 3 ครั้ง ซึ่งมีความยากแตกต่างกันไปในแต่ละรอบการสอบ หรือเรื่องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งลดเรื่องค่าที่พักค่าเดินทางจริง แต่เกิดค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น รอบพอร์ตฟอลิโอ ที่กำหนดว่าห้ามมหาวิทยาลัยจัดสอบ แต่บางคณะบางสาขาคิดว่าใช้พอร์ตฯ เพียงอย่างเดียววัดเด็กไม่ได้ จึงใช้คะแนนจากหน่วยงานเอกชนจัดสอบมาใช้ เช่น แพทย์ ใช้คะแนนบีแมต ของต่างประเทศ ค่าสอบถึง 7,100 บาท หรือพอร์ตฯ ที่ยื่นไม่สามารถยื่นได้ทุกมหาวิทยาลัยที่เลือก เพราะมีเกณฑ์ต่างกันไป ก็ต้องทำพอร์ตฯ ถึง 5 ชุด และเกิดธุรกิจการทำพอร์ตฯ ขึ้นจำนวนมาก

นายมนัส กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาการกั๊กที่อย่างรอบ 3 ที่ว่ากั๊กที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เพราะกลไกออกแบบให้สอบติดได้มากที่สุด 4 ที่ ซึ่งลดการกั๊กที่จากอดีตที่ผ่านมาเป็น 10 กว่าที่ แต่ในอดีตเป็นการกั๊กแบบใต้ดิน ไม่มีใครรู้ แต่ TCAS ทำทุกอย่างให้โปร่งใสจึงทำให้เกิดเห็นปัญหาขึ้นมาอย่างชัดเจน ซึ่งพอเด็กฟังเหตุผลของ ทปอ.แล้วรู้ที่มาที่ไปก็เข้าใจ แต่อย่างที่ว่าไม่มีการทดลองระบบก่อน จึงเหมือนเป็นรุ่นหนูทดลอง อีกปัญหาคือมหาวิทยาลัยบางแห่งเตรียมตัวไม่ทัน เช่น โควตาพื้นที่แต่สามารถรับเด็ก ม.6 ได้ทั่วประเทศ แต่เด็กไม่ทราบ หรือการเปลี่ยนเกณฑ์กระทันหันโดยไม่แจ้งนักเรียน ทำให้เด็กเสียสิทธิ์ ขณะที่พ่อแม่ก็ตามระบบไม่ทัน พอมาพูดคุยกับลูกก็ทำให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นอีก ทั้งนี้ ในปีถัดไปก็มีหลายข้อเสนอ เช่น กสพท. ไม่ควรเป็นหนึ่งใน 4 ตัวเลือก และไม่ควรอยู่ในรอบ 3 เพราะคะแนนสูง ทำให้ระบบคะแนนรอบ 3 เขว อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบหนึ่งทำให้นักเรียนทั้งหมด 3 แสนคนพอใจเป็นเรื่องยาก แต่ต้องฝากเรื่องความยุติธรรม การจะทดลองทำได้ แต่เด็กต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เช่น สละสิทธิ์แล้วเห็นอนาคตข้างหน้าว่ามีโอกาสหรือไม่ อย่างรอบ 3/1 ก็ไม่มีการบอกว่านักเรียนอยู่เป็นตัวสำรองลำดับเท่าไร ทำให้รอบ 3/2 เหมือนเป็นการเสี่ยงดวง

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อนาคตการศึกษาไทยนั้น อาจไม่ได้มองแค่เรื่องของ TCAS เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องย้อนกลับมามองว่าเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยคืออะไร แค่ผลิตแรงงานป้อนตลาดอย่างที่ผ่านๆ มาหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม คือ ผลิตคนเข้าอุตสาหกรรม จะเปลี่ยนระบบแค่ไหนก็เกิดปัญหาเหมือนเดิมคือการแข่งขัน เพราะเกิดการรับตรงที่อยากได้เด็กเก่งก่อน รวมถึงค่านิยมบางสถาบันยังเหมือนดิมทั้งที่มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพียงพอ จนเกิดปัญหาระบบที่ไม่ตรงไปตรงมา อย่างรอบ 1 - 2 ที่ดีไซน์เพื่อให้โอกาสเด็ก มหาวิทยาลัยก็มาลักไก่เอาเด็กเก่งก่อน ระบบดีแค่ไหนก็มักเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งสังคมต้องมาถกเถียงกันว่ามหาวิทยาลัยจะยังคงมีเป้าประสงค์เพียงแค่นี้หรือไม่ ซึ่งหากวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า การที่สังคมเข้ามาช่วยกันคิดในเวลาสั้นๆ ทุกอย่างจะโฟกัสมาที่ความรู้สึก อย่าง TCAS ตอนนี้มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก จึงอยากให้หายใจลึกๆ ก่อน ใจเย็นๆ ทั้งนักเรียนและพ่อแม่ ซึ่งอยากจะบอกว่าชีวิตของเราเกิดมาพร้อมการแข่งขันอยู่แล้ว TCAS เป็นแค่การแข่งขันหนึ่ง ส่วนความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น มาจากจำนวนที่นั่งกับจำนวนคนสมัครไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่กังวลคือ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นจากความผิดหวังจากการสอบหลายรอบ ผิดหวังจากรอบที่ 1 2 3 เป้นต้น ทำให้เด็กรู้สึกคุณค่าของตนเองลดลง เพราะเกิดคำว่าไม่ได้ๆ ซ้ำๆ

“อะไรที่เราควบคุมไม่ได้นั้นทำให้เครียดทั้งสิ้น ดังนั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่าพูดกันแค่ว่าจะต้องสอบติดๆ แต่จะต้องคิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นด้วยว่าถ้าไม่ติดจะทำอย่างไร เพราะจะได้มีประตูโอกาสให้เลือกอีกหลายทาง อย่าปล่อยให้เหลือเพียงประตูเดียวและเป็นประตูที่คนอื่นกำหนด ซึ่งหากเตรียมเรื่องเหล่านี้ไว้ ความเครียดจะลดลงไปมาก อีกเรื่องคือต้องควบคุมตัวเอง ควบคุมสติ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่กระโดดลงไปเล่นเอง ซึ่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเกมของเด็กที่ต้องสู้และผ่านให้ได้ เหมือนตอนเราจูงลุกไปโรงเรียนครั้งแรก เด็กก็ต้องสู้เข้าไปเรียนด้วยตนเอง มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ลูกต้องเดินเข้าไปเอง สมหวัง ผิดหวัง ด้วยตนเองและจัดการตนเองให้ได้ พ่อแม่ต้องใช้สติให้มากถือโอกาสช่วงนี้หันมากอดลูก คุยกับลูก เพราะเขาต้องการเรา ซึ่งอยากบอกว่าลูกไม่ได้สู้แค่ความคาดหวังของตนเอง แต่แบกความหวังของพ่อแม่ หรือป้าข้างบ้าน และโซเชียลอยู่ตลอด พ่อแม่ต้องบอกเลยว่า ไม่ว่าจะสอบได้หรือไม่ได้ เป็นปัญหาที่ระบบ ไม่ใช่ความเก่งความสามารถของลูก ทำให้เขามั่นใจเชื่อความเก่งสามารถของลูก ลูกจะสอบได้หรือตกไม่ได้ทำให้รักน้อยลงหรือสูญเสียความมั่นใจในตัวลูก” ผศ.ดร.พรรณระพี กล่าว

ผศ.ดร.พรรณระพี กล่าวว่า นอกจากนี้ พ่อแม่อย่าตั้งคำถามอะไรกับลูกที่ไม่มีคำตอบ ประเภททำไมไม่ดูหนังสือ ทำไมถึงโชคร้าย ทำไมระบบถึงมีปัญหา ทำไมๆ ที่ไม่มีคำตอบ จะเพิ่มความกดดันให้เด็ก คุยเมื่อไรเจอคำถามเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการทะเลาะและความเครียด ผลักลูกให้ไปหาคนอื่น ก่อนจะช่วยคิดให้ลูกว่าควรไปยังไง พ่อแม่ต้องฟังเขาก่อน ให้เขาได้พูดระบายออกมา ลูกอยากได้ความมั่นใจว่าพ่อแม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเขา ส่วนเด็กไม่ใช่อยากบอกว่านี่ไม่การแข่งขันครั้งแรก แต่เราแข่งมาเยอะ แข่งตั้งแต่ตอนเกิดมา สอบเข้าโรงเรียน สอบในห้องเรียน การแข่งกับตัวเอง เป็นสวนหนึ่งในชีวิตบางครั้งผิดหวังหรือสมหวัง คือ เรื่องธรรมดาในชีวิตที่ต้องเจอ ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่เจอบททดสอบที่เราจะผ่านไปได้ดีด้วย เพราะมีทางออกให้ตัวเองไม่ใช่ให้ระบบเลือก


กำลังโหลดความคิดเห็น