กก.สปสช. ภาคประชาชนโวย เปลี่ยน รพ.ราชวิถี จัดซื้อยาแทน สปสช. ติดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ จนออกใบสั่งซื้อยาไปที่ อภ. ไม่ได้ ทำ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” กระจายไม่ถึง รพ. ทั้งที่มีอยู่เต็มคลัง ส่งผลประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงไปรอฉีดเก้อ
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนภาคประชาชน (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษามีอย่างต่อเนื่องทุกปี และที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาล แต่ในปี 2561 ที่เปลี่ยนระบบให้ รพ.ราชวิถี ทำหน้าที่จัดซื้อแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถูกตรวจสอบว่าไม่สามารถทำได้ โดยให้ สปสช. ทำหน้าที่จัดทำแผนความต้องการ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่กระจายยาและเวชภัณฑ์ ก็เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่ภาคประชาชนกังวล เพราะขณะนี้ถึงช่วงที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับ 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว แต่กลับกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ได้ เพราะ รพ.ราชวิถี ติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ จึงไม่สามารถออกใบสั่งซื้อให้กับทาง อภ. ได้ ทั้งที่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่เต็มคลังของ อภ. ตั้งแต่ปลาย มี.ค. 2561
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า เบื้องต้น รพ.ราชวิถี แก้ปัญหาโดยใช้วิธียืมวัคซีนจาก อภ. ก่อน แต่ อภ. ไม่สามารถให้ยืมได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้รายการยาตัวอื่นที่ รพ.ราชวิถี จัดซื้อก็ใช้วิธียืมยาจาก อภ.มากกว่า 5 พันล้านบาท ที่สุดใกล้ถึงช่วงเวลาจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ก็ยังกระจายวัคซีนให้ รพ. ไม่ได้ คณะอนุกรรมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติว่า อภ. ต้องยอมให้ รพ.ราชวิถี ยืมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อน จึงได้เริ่มกระจายวัคซีนให้ รพ. ไปรอบแรก ซึ่งยังมี รพ. หลายแห่งที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ที่น่าสงสัยคือทำไมปลัด สธ. ไม่รายงานตรงไปตรงมาว่ามีปัญหาอะไร จะได้ช่วยกันแก้ไข ตอนมารายงานความคืบหน้าก็บอกไม่มีปัญหา ปัญหาการยืมยาก็บอกว่าเคลียร์เรื่องระเบียบต่างๆ กับกรมบัญชีกลางแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่จริง พอแบบนี้ประชาชนไปรอฉีด แต่กลับไม่มีวัคซีนให้ ก็เสียหายไปหมด
“สาเหตุนี้จึงมีปัญหาในหลายพื้นที่ที่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงไปขอรับวัคซีน แต่วัคซีนยังมาไม่ถึง รพ. จะเห็นว่าเรื่องนี้สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชน จากการตรวจสอบระเบียบราชการ และกฎหมายที่ออกมา โดยไม่คำนึงถึงหลักปฏิบัติที่เป็นจริง ในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนก็ถามย้ำทุกครั้ง ว่า จะมีผลกระทบเสียหายกับประชาชนหรือไม่ หากเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่จัดซื้อ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่มีแน่นอน แต่สุดท้ายก็มี และคนที่รับผลกระทบหนักคือประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างาน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 3.5 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่า เป็นการให้ฉีดได้สำหรับประชาชนทั่วไปด้วย สปสช.จึงขอย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 3.5 ล้านโดสนี้ ใช้สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่ระบาดมากในฤดูฝน อาการป่วยส่งผลต่อสุขภาพและต้องหยุดพักรักษาตัว ซึ่งประชาชนในกลุ่มเสี่ยงมีภูมิต้านทานน้อยหากติดไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้น จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงไว้ก่อน จึงขอให้ผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวนี้ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่จะเกิดตามมา
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับประชาชนทุกสิทธิที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม คือ 1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยไปฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.- 31 ส.ค. 2561 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด