xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนา “ช่างซ่อมเรือ” ภูเก็ต รองรับศูนย์เทียบเรือสำราญระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพร. ร่วมเอกชน พัฒนาช่างซ่อมเรือ 4 สาขาขาดแคลน จ.ภูเก็ต รองรับศูนย์กลางท่าเทียบเรือสำราญระดับโลก เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดวิสัยทัศน์ในปี 2561 - 2564 ในการเร่งพัฒนายกระดับเมือง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่รู้จักไปทั่วโลกภายใต้ภาพลักษณ์ของ “เมืองไข่มุกอันดามัน” จ.ภูเก็ต จึงได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของท่าเทียบเรือสำราญ (Marina Hub) ของโลก โดยภูเก็ตมีท่าเทียบเรือ 38 แห่ง มีท่าเทียบเรือสำราญจำนวน 5 แห่ง แต่ในปัจจุบันธุรกิจด้านนี้กลับประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในการซ่อมบำรุง ปรับเปลี่ยนอะไหล่กลไกต่างๆ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง กพร. จึงได้ดำเนินการพัฒนาทักษะช่างฝีมือป้อนสู่ตลาด สอดคล้องนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเป็นการส่งเสริม 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเฉพาะจังหวัดภูเก็ตสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 313,000 ล้านบาท

นายสุทธิ กล่าวว่า ตนได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับบริษัท โบ๊ทลากูน จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือรายใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการโครงการ “การพัฒนาฝีมือแรงงานในธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญในจังหวัดภูเก็ต” ในเบื้องต้นดำเนินฝึกอบรมในสาขาที่ขาดแคลน จำนวน 4 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เรือ ช่างทาสีเรือ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์เรือ ช่างซ่อมไฟเบอร์เรือ ให้กับ ช่างฝีมือ ช่างในธุรกิจท่าเทียบเรือ แรงงานใหม่ คนที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพและนักศึกษาอาชีวะภายในจังหวัด เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2561 คาดว่า จะมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ส่วนความร่วมมืออื่นๆ เช่น ฝึกอบรมตามความต้องของนายจ้างและสถานประกอบกิจการในสาขาช่างและภาคบริการ จัดทำหลักสูตรกลางเพื่อใช้ขยายผลการฝึกอบรมให้กับจังหวัดอื่นๆ และพื้นที่อันดามันต่อไป เป็นต้น

“จากสถิตการแจ้งเข้า-ออกของสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ภาค 5 จังหวัดภูเก็ต ระบุว่ามีเรือยอร์ชและเรือครูซเข้ามาจอดเทียบท่ารวมกันปีละประมาณ 1,200 - 1,400 ลำ เข้ามาพักเฉลี่ยครั้งละ 60 วัน ในแต่ละวันนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเงินเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากเป็นจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อย่างถูกวิธีแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนไทยอีกด้วย” อธิบดี กพร. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น