xs
xsm
sm
md
lg

ใช้น้ำเกลือฆ่าหญ้า คนปลอดภัย ไร้สารพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ดร.ดวงใจ วิชัย สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือ “ยาฆ่าหญ้า”ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างมากมาย มีวิธีควบคุมวัชพืชในแปลงเกษตรหลายวิธีที่ได้ผลดีมาก โดยไม่ต้องเอาสุขภาพและชีวิตของประชาชนไปแลก เช่น การใช้น้ำเกลือ
 
ความทุกข์ที่เกิดขึ้น
บทเรียนผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ต้นน้ำสายสำคัญของภาคอีสาน ซึ่งเกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้าในกระบวนการเพาะปลูกต่อเนื่องยาวมานานกว่า 30 ปี

ทีมวิจัยได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์เกษตรกรคนหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตนเอง ในตอนเช้าของวันหนึ่ง ตอนนั้นตนมีแผลขนาดเล็กน้อยที่นิ้วเท้า เดินสวมรองเท้าแตะไปปฏิบัติภารกิจในแปลงปลูกของตนเองที่อยู่ใกล้แปลงปลูกของเพื่อนบ้านที่ผ่านการฉีดยาฆ่าหญ้ามาประมาณ 3-4 วัน เมื่อกลับถึงบ้านตนเองในตอนเย็น ตนก็เริ่มมีไข้ขึ้น แผลที่เท้าเริ่มบวมและปวดมากขึ้นในตอนกลางคืน หลังจากนั้นจึงได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ได้ยามารับประทาน แต่อาการไม่ดีขึ้น ผ่านไป 6 วัน อาการกลับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 12 ของการป่วยต้องกลับไปที่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง แพทย์จึงได้สั่งการรักษาด้วยการตัดนิ้วเท้าที่อักเสบรุนแรงออกจำนวน 1 นิ้วทันที และให้ยาปฏิชีวนะรักษาจนแผลหายดี ปัจจุบันคนไข้รายนี้ได้ตัดสินใจ “เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า” โดยเด็ดขาด และไม่มีปัญหาแบบเดิมอีกแล้ว แต่ร่องรอยความพิการและความทุกข์ทรมานตอนเจ็บป่วยยังคงตรึงตราในใจ [1]

มีคนไทยจำนวนมากเท่าไรที่เจ็บป่วยแบบนี้และมีการเจ็บป่วยแบบอื่นๆ อีกหรือไม่ การเจ็บป่วยนี้มีความสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างไร การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นทำให้เสียค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสของทั้งผู้ป่วยและของคนอื่นๆในครอบครัวมากน้อยเพียงใด ถ้านำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปคำนวณรวมเป็นต้นทุนของการผลิตจะมีมูลค่าเท่าไร ต้นทุนของระบบบริการสุขภาพจากการที่จะต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไร ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการที่กินอาหารปนเปื้อนสารเคมีกำจัดวัชพืชมีกี่คน ระบบประกันสุขภาพจะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร เงินค่ายาไหลออกไปนอกประเทศเป็นมูลค่าเท่าไรต่อปี ฯลฯ เป็นโจทย์วิจัยที่หลายฝ่ายอาจจะอยากได้คำตอบ

แต่ประเทศที่เขาห่วงใยความผาสุกของประชาชนอย่างแท้จริง เขาจะไม่รอคำตอบข้างต้น เพราะมีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยและบทเรียนของประเทศต่างๆทั่วโลกบอกชัดเจนแล้วว่า สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ ต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพมากมายหลายโรค ทำลายทั้งชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม [2][3][4]

ทางออกที่ได้ผลดี “น้ำเกลือ”
ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายที่เข็ดหลาบจากความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หันไปหาทางเลือกอื่นในการทำการเกษตร โดยการเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช พบว่า ทำให้สุขภาพดีขึ้น และผลผลิตทางการเกษตรก็ไม่ได้ลดลงแต่ประการใด [5]

เกษตรกรรายหนึ่งที่ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์ [6] เล่าประสบการณ์ว่า พบทางเลือกใหม่ในการกำจัดหญ้าโดยการใช้ “เกลือ” ผสมน้ำในการฉีดพ่น พบว่า ทำให้หญ้าตายได้รวดเร็วกว่าการใช้สารเคมี จากเดิมที่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในกระบวนการเพาะปลูกมันสำปะหลังมานานกว่า 30 ปี แสดงข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนให้เห็น พบว่า การฉีดพ่นแปลงมันสำปะหลังในครั้งที่ 1 เพื่อ “คุมหญ้า” ต้องผสมสารเคมีจำนวน 2 ชนิด คือ ไดยูรอน 1 กิโลกรัม (ราคา 270 บาท) และ ไกลโฟเสท 1 ลิตร (ราคา 450 บาท) ผสมกับน้ำ 200 ลิตร นำไปฉีดพ่นในพื้นที่ 4 ไร่ รวมเป็นต้นทุน 720 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 180 บาท/ไร่ แต่ถ้าใช้ “น้ำเกลือ” ฉีดพ่น จะใช้เกลือประมาณ 20 - 25 กิโลกรัม (ราคา 130 บาท) ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นได้พื้นที่ 2.5 ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยเพียง 52 บาท/ไร่ เท่านั้น ซึ่งนับว่าใช้ต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้สารเคมีถึง 3 เท่า นอกจากนี้เกษตรกรคนนี้ยังบอกว่า การใช้เกลือในการฉีดพ่นฆ่าหญ้า ยังช่วยในการบำรุงดินอีกด้วย ทำให้มันสำปะหลังให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่การฉีดพ่นสารเคมี ทำให้ใบมันสำปะหลังเป็นรอยไหม้ เกิดความเสียหาย

ประเทศไทยมีการลงทุนศึกษาวิจัยเรื่องเทคนิคทางการเกษตรในการควบคุมวัชพืชโดยวิธีอื่นๆที่ไม่ใช้สารเคมีอีกหลายวิธีและประสบความสำเร็จมากมาย ดังเช่น การวิจัยของ ตรียนัย ตุงคะเสน และคณะแห่งกรมวิชาการเกษตร [7] พบว่า การใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม และจอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ ให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารกําจัดวัชพืช แต่น่าเสียดายที่ผลการวิจัยชิ้นนี้ไม่ถูกนำมาเผยแพร่ส่งเสริมให้ใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร
อุปสรรคใหญ่คงจะเป็นเพราะเราติดกับดักทางปัญญาที่ “เสพติดสารเคมี” อย่างดิ้นไม่หลุด
คำกล่าวที่ว่า “เราเลิกใช้สารเคมีตัวนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีสารเคมีตัวอื่นทดแทน” จึงสะท้อนถึงการติดกับดักทางปัญญาดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสารเคมีมีผลต่อระบบประสาทและสมอง ทำให้เราคิดหาทางออกอื่นๆ ไม่เจอ สร้างเวรสร้างกรรมแบบเดิมๆ กันต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วคนรุ่นเราและคนรุ่นต่อไป จะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง “มหาสมุทรแห่งสารพิษ” (sea of toxins) แบบนี้ไปอีกนานเท่าไร

คนไทยทั้งหลาย จะช่วยกันหาทางออกให้กับครอบครัวและประเทศชาติในเรื่องนี้กันอย่างไรดี

อ้างอิง
[1] ข้อมูลจากสัมภาษณ์เกษตรกร ตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
[2] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5447120/
[3] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/29117584
[4] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4947579/
[5] https://isaanrecord.com/2017/08/19/sugarcane-farmers-paraquat/
[6] ข้อมูลจากสัมภาษณ์เกษตรกร ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ
[7] http://www.doa.go.th/research/attachment.php?aid=1679


กำลังโหลดความคิดเห็น