xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ชี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ “ลูกจ้าง” ต้องใช้เวลา จ่อปรับขนาด รพ.ลดจ้างงานผิดประเภท-จ้างเหมาบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ชี้ ปม “ลูกจ้าง” ยังไม่ได้เงินตามค่าแรงขั้นต่ำ ต้องใช้เวลาในการปรับ เหตุคนที่มาก่อนก็ต้องปรับเพิ่มด้วย เผยต้องใช้งบเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ย้ำจ้างเหมาบริการต้องชัดเจน จบงานตามที่กำหนด เตรียมปรับขนาด รพ. และอัตรากำลังตามเป้นจริง ลดการจ้างผิดประเภท

วันนี้ (6 มิ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีลูกจ้างสังกัด สธ. ยังพบปัญหาได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน โดยจะมีการรวมพลเรียกร้อง ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เราไม่ช่วย ซึ่ง รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญมากและเป็นนโยบาย ซึ่งต้องได้รับไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม สธ. จะยึดตามหลักของกระทรวงการคลังคือ การจ้างเป็นรายวัน เดือนหนึ่งจะค่าแรงจำนวน 23 วัน หากทำงานล่วงเวลาหรือในวันหยุดราชการ ก็จะได้รับค่าแรงเพิ่ม ส่วนที่ขณะนี้บางส่วนยังไม่ได้รับค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เนื่องจากเพิ่งประกาศเป็นนโยบายลงไป คงต้องให้เวลาในการปรับเปลี่ยน แต่ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขตลงไปสำรวจลูกจ้างทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร เพราะการขึ้นค่าจ้างไม่ใช่ขึ้นแล้วจบ แต่ยังมีลูกจ้างคนเก่าที่อยู่มานาน การขึ้นก็จะเป็นแบบลูกระนาด ที่ขึ้นต่อกันเป็นทอดๆ

“การให้คนที่ต่ำสุดได้รับเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ คนที่มาทำงานก่อนหน้านั้นก็ควรจะต้องได้ไปด้วย ซึ่งยังมีรายละเอียดในการคิด ก็ขอให้ใจเย็นๆ ก่อน เพราะยังต้องใช้เวลา และมีผลกระทบต่องบประมาณ ซึ่งเดือนหนึ่งเข้าใจว่าเบื้องต้นรายจ่ายน่าจะเพิ่มเป็น 100 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังเข้ามาไม่ทั้งหมดด้วย” นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการประชุมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และผู้แทนลูกจ้างทั้ง 12 เขตสุขภาพเข้าร่วม เพราะมีทุกวิชาชีพ ซึ่งการประชุมเป็นไปด้วยดี มีข้อสรุป คือ 1. กรณีลูกจ้างใช้เงินงบประมาณในการจ้าง ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง หากเห็นชอบก็ถือเป็นเรื่องดี 2. เรื่องให้ลูกจ้างทุกคนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เรื่องนี้มีหลายวิชาชีพไม่อยากเป็น ก็ต้องพิจารณากันต่อ 3. เรื่องการเพิ่มค่าประสบการณ์ต่างๆ ก็จะรับมาพิจารณาคำนวณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และ 4. เรื่องการขอรับค่าเสี่ยงภัยของสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้มอบผู้ตรวจราชการ สธ. เขต 12 ทำข้อมูลเบื้องต้นและพิจารณาในรายละเอียด เพราะจะมีผลกระทบต่อหลายกระทรวง ซึ่งทั้งหมดคงจะมีการหารือต่อๆ ไป โดยจะมีการประชุมอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถดำเนินการได้จริงภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2561

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจ้างงานผิดประเภท นพ.เจษฎา กล่าวว่า กำลังให้ดำเนินการหาตัวเลขอยู่ และต้องมาตรวจสอบ แต่ที่พบคือ เรื่องทำงานที่ไม่ตรงวุฒิการศึกษา ซึ่งตำแหน่งที่เปิดรับอาจต้องการ ม.6 ปวช. หรือ ปวส. แต่มีระดับปริญญาตรีมาสมัคร และมาเรียกร้องขอปรับเงินเพิ่มตามวุฒิ ตรงนี้ก็คงไม่ได้ แต่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนเรื่องของการจ้างงานแบบเหมาบริการ ต้องเป็นงานที่ระบุรายละเอียดจ้างชัดและจบงานตามที่กำหนดไว้ เช่น ทำโครงการวิจัยจะจ้างเหมาเก็บข้อมูล หรือวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อทำเสร็จก็จบโครงการ แต่ก็ต้องไปรวบรวมข้อมูลว่า แบบนี้มีมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่จ้างเหมาแต่ไปจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราว ให้ทำงานเช้าเย็นกลับ เรื่องนี้กำลังหาข้อมูล เนื่องจากเข้าใจว่า สธ. มีการแบ่งกลุ่มขนาดโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดว่าไม่เกิน 80% แต่บางโรงมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น ภาระงานเพิ่มขึ้น แต่เราปรับขนาดโรงพยาบาลไม่ทัน ทำให้กรอบอัตรากำลังไม่เพิ่ม แต่โรงพยาบาลรอไม่ได้ ก็ต้องหาทางออกด้วยการจ้างเหมาไปก่อน ตรงนี้ก็ต้องหาทางออกโดยปรับขนาดโรงพยาบาล ปรับอัตรากำลังตามความจำเป็น ซึ่งเราจะดึงการจ้างงานกลับมาให้ถูกประเภท

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า การประชุมที่ผ่านมามีแต่คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ซึ่งไม่มีการพูดถึงลูกจ้าง ไม่มีการตั้งคณะทำงาน ทั้งๆที่เรื่องนี้ต้องมีคณะทำงานมา 1 ชุดเพื่อมาแก้ปัญหาโดยเฉพาะตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่เสนอไป ส่วนที่บอกว่าจะทันตามกรอบข้อตกลง 15 สิงหาคมนั้น ระหว่างนี้ยังไม่มีคณะทำงานเลยแล้วการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร เพราะถ้ามีแค่คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงฯ ไม่ตอบโจทย์แน่นอน ล่าสุด ตนได้หารือไปทาง นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพราะถ้าไม่ตั้งอีก ก็ยืนยันว่า จะเคลื่อนไหวแน่นอนอีก 15 วันนับจากนี้ หรืออย่างช้าประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทาง นพ.โสภณ รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือและคิดว่าจะตั้งคณะทำงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น