ภายหลังการประกาศผล TCAS (Thai University Central Admission System) รอบที่ 3 คือ การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนทั้งในโครงการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) และนักเรียนทั่วไป โดยนักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบไม่มีลำดับเสร็จสิ้น ก็เกิดความโกลาหล ทำให้เด็กจำนวนมากไม่มีที่เรียน จนกลายเป็นที่มาของการแก้ปัญหาของ ทปอ.(ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ประกาศเพิ่มการเคลียริงเฮาส์ TCAS รอบ 3 เป็น รอบ 3/1 และรอบ 3/2 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เปิดระบบเคลียริงเฮาส์ 3/1 ในวันที่ 1 - 3 มิ.ย.61
2. เปิดระบบเคลียริงเฮาส์ 3/2 ในวันที่ 6 - 7 มิ.ย.61
3. หากนักเรียนผ่านการคัดเลือกรอบ 3/1 แล้วทำการสละสิทธิ์ หรือไม่เข้ามาทำการใด ๆ ในรอบ 3/1 แต่สามารถลุ้นต่อในรอบ 3/2 ได้
4. การเคลียริงเฮาส์รอบ 3/2 นักเรียนสามารถยืนยันสิทธิ์ในคณะ/สาขาวิชา ที่ยังไม่ถูกประกาศในรอบ 3/1 เท่านั้น เช่น นักเรียนได้รับประกาศชื่อคัดเลือกจำนวน 2 สาขาวิชา ในรอบ 3/1 เเต่ไม่ทำการยืนยันสิทธิ์ นักเรียนจะมีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกเพิ่มเติมใน 2 สาขาที่เหลือในรอบ 3/2
5.หากรอบ 3/2 นักเรียนไม่ผ่านการคัดเลือก หรือผ่านการคัดเลือกในคณะ/สาขาวิชาที่ไม่เป็นที่พอใจ ไม่สามารถเรียกร้องขอกลับไปยืนยันสิทธิ์ในคณะ/สาขาวิชาที่ติดในรอบ 3/1 ได้
และถ้าไม่มีชื่อทั้งรอบ 3/1 และรอบ 3/2 ก็ต้องไปสอบรอบที่ 4 คือ การรับแบบ Admissions นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ
เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกครั้ง !
และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนทุกครั้งที่มีการปรับระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย
และ..เด็กก็ยังต้องเป็นหนูทดลองของระบบที่ผู้ใหญ่ ซึ่งมีส่วนต่อการคิด และกำหนดชะตาชีวิตของเด็กต่อไป
เสียงเซ็งแซ่ของเด็กนักเรียนที่พลาดหวังจากรอบ 3 เงียบลงไปได้ในเวลาเพียงไม่นาน เพราะทปอ.ออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็ว ทำให้เสียงของเด็กและผู้ปกครองเบาบางลง และรอดูว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
การแก้ปัญหาที่ทันท่วงที จึงทำให้เด็กจำนวนหนึ่งที่พลาดในรอบ 3 ได้ลุ้นเพิ่มเป็น 2 รอบ ก็น่าจะหายห่วงไปได้
แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้นน่ะสิ !
เพราะในรายละเอียดเด็กยังประสบปัญหาอยู่อีกไม่น้อย เด็กอาจไม่สามารถเลือกคณะ/สาขาที่ตัวเองชอบจริง ๆ เช่น นายเอกมีชื่อติดรอบ 3/1 สอบคณะ/สาขาที่ 1 และ 3 ได้ แต่นายเอกอยากเรียนคณะ/สาขาที่ 2 แต่ก็ไม่กล้าสละสิทธิ์รอบ 3/1 เพราะกลัวว่าอาจไม่มีชื่อติดในรอบ 3/2 จึงตัดสินใจยืนยันสิทธิ์เลือกคณะ/สาขาที่ 1
ส่วนเด็กที่มีชื่อติดรอบ 3/2 และเคลียริ่งเฮาส์แล้ว ก็ยังต้องมีลุ้นอีก เพราะเด็ก 3/1 และ 3/2 ต้องรอสอบสัมภาษณ์ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ซึ่งผลของการสอบสัมภาษณ์ก็ต้องลุ้น เพราะประกาศในช่วงเดียวกับการเปิดรับสมัครรอบที่ 4 คือ วันที่ 12-16 มิถุนายน 2561 เรียกว่าลุ้นตัวโก่งกันแทบจะทุกช่วงทีเดียว
เด็กนักเรียนคนสุดท้ายที่อาจต้องไปถึงรอบ 5 ในระบบนี้ที่จะมีสิทธิ์รู้ว่าตัวเองจะติดคณะอะไรก็ต้องรอไปถึงวันที่ 19 กรกฏาคม 2561 ซึ่งก็ใกล้เปิดเทอมเต็มที
แล้วในช่วงเวลาที่อยู่กับการรอคอย มันทุกข์ขนาดไหน และความทุกข์ก็มิใช่อยู่ที่ตัวเด็กคนเดียว แต่เป็นทุกข์ทั้งครอบครัว
ช่างเป็นระบบที่ซับซ้อนและเฉลี่ยทุกข์กันถ้วนหน้า !
และปีหน้าเราก็จะพบ "เด็กซิ่ว" เพิ่มจำนวนอย่างมาก จากที่เมื่อก่อนเด็กซิ่ว เพราะเรียนไม่เก่ง หรือเรียนไม่ไหว แต่ปัจจุบันเด็กเก่งจำนวนมากที่เลือกจะเป็นเด็กซิ่ว เพราะพยายามจะเข้าคณะที่ตัวเองอยากเรียนให้ได้ จนกลายเป็นค่านิยมของเด็กยุคนี้ ที่ไม่แคร์ว่าจะเรียนช้า และใช้ช่องโหว่ของระบบในการเลือกสอบใหม่
และเชื่อแน่ว่าผลของปีนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิดเด็กซิ่วอีกจำนวนมากในปีหน้า
คำถามก็คือประเด็นปัญหาที่ใช้ระบบ TCAS ในปีนี้ ได้แก้ปัญหาระบบแอดมิชชั่นในปีที่แล้วได้จริงหรือไม่?สิ่งที่สามารถแก้ได้คือ เด็กปีนี้ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ และลดค่าใช้จ่ายได้จริง
แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ลดการกวดวิชา ลดการกั๊กที่ ซึ่งยังคงอยู่ครบหมด และยังมีรายละเอียดของปัญหาที่ซับซ้อนลงไปอีก
เชื่อว่าปีหน้าคงต้องมีการปรับปรุงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้อีกอย่างแน่นอน
จะว่าไปการที่ทปอ.คิดระบบ TCAS นี้ขึ้นมา เป็นเจตนาดีที่ต้องการหารูปแบบที่ดีที่สุดในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม ว่าแล้วทำไมยิ่งแก้ยิ่งพัลวัน แก้ปัญหานึงแต่ไปสร้างปัญหาใหม่ จนทำให้เกิดกระแสของผู้คนจำนวนมากอยากให้กลับไปใช้ระบบเอนทรานส์แบบเดิม ในยุคสมัยของคนเป็นพ่อแม่
ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้กลับมาใช้ระบบเดิม นั่นย่อมทำให้เกิดคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น !
แน่นอนระบบเอนทรานส์ไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้แล้ว เพราะในอดีตมหาวิทยาลัยไม่ได้มีมากมาย ไม่ได้มีคณะ/สาขามากมายเหมือนในปัจจุบัน และมีจำนวนประชากรเด็กมากกว่ายุคนี้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีเงื่อนไขการรับเด็กนักเรียนแบบเฉพาะเจาะจงมากมายเหมือนปัจจุบัน
"เราเดินมาไกลแล้ว" คือประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ ของผู้บริหารที่ถูกสัมภาษณ์ว่าทำไมไม่ใช้ระบบเอนทรานส์เหมือนเดิม
เราเดินมาไกลแล้วจริง แต่เป็นการเดินมาไกลในลักษณะที่ไม่รู้ว่าบรรดาผู้ที่มีส่วนต่อการออกแบบระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งใช้ฐานคิดหรือวิธีคิดอะไรเป็นตัวตั้ง
ใช้ความต้องการของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเด็กแบบไหนเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบเพื่อให้ได้เด็กตามที่ต้องการ ?
หรือใช้เด็กเป็นตัวตั้งเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าสู่มหาวิทยาลัยและเรียนในคณะ/สาขาที่ตัวเองต้องการได้อย่างแท้จริง หรืออย่างน้อยก็มีโอกาสได้เลือกคณะที่ตัวเองมีความถนัดได้ มิใช่ขอเพียงให้สอบติดคณะอะไรก็ได้ ?
และในเมื่อ "เราเดินมาไกลแล้ว" เราก็น่าจะมีการทบทวนกันอย่างจริงจังและจริงใจอีกสักทีดีไหม
ทำไมไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมต่อการกำหนดชีวิตของพวกเขาเองล่ะ ?
ที่ผ่านมาเรามีการปรับเปลี่ยนระบบวิธีเข้ามหาวิทยาลัยมาหลายครั้งแล้ว ลองผิดลองถูกก็เยอะเหลือเกิน มีผลผลิตของระบบออกไปก็มากมาย ทำไมเราไม่ให้ผลผลิตที่เคยประสบปัญหาและเห็นถึงข้อดีข้อเสียของยุคสมัยของเขาที่ประสบปัญหาแบบไหนอย่างไร และรวมพวกเขาทุกยุคของการปรับเปลี่ยนวิธีการ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ หรือนำเสนอถึงแนวทางที่เหมาะสมในสายตาของพวกเขาด้วย ?
อ้อ และขอที อย่าใช้วิธีรับฟังความคิดเห็นแบบเปิดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพูด แล้วทุกอย่างจบที่ปัญหา และจบอยู่เพียงเท่านั้น แต่เราควรให้เด็กนักเรียนในปัจจุบันและในอดีตได้มีส่วนต่อการออกแบบวิธีการด้วย
ถึงเวลาที่เราควรปล่อยให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับการเข้ามหาวิทยาลัย เพราะยุคสมัยเปลี่ยน แต่เราจะใช้วิธีคิดหรือวิธีการเหมือนเดิมไม่ได้
ตีฝ่าแหวกวงล้อมออกมาจากวิธีลิงแก้แหครั้งแล้วครั้งเล่าเสียทีเถอะ !