xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” หารือ “ราชภัฏ” ภารกิจใต้ปีกกระทรวงใหม่ พัฒนาพื้นที่ ลดเหลื่อมล้ำ ชงใช้ชื่อ “ก.อุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.วิทย์ ทำความเข้าใจ “ราชภัฏ” ปมตั้งกระทรวงใหม่ ย้ำราชภัฏต้องช่วยพัฒนาพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ เผย กระทรวงใหม่จะตั้ง “สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติ” เพิ่ม ตอบโจทย์คนไทย 4.0 ต้องใช้ทั้งวิทย์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ เล็งใช้ชื่อ “ก.อุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม” ด้านราชภัฏห่วงระบบราชการไม่เอื้อการทำงาน

วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลลาดพร้าว นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประชุมหารือร่วมกับ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงการตั้งกระทรวงใหม่ ที่รวมเอา วท. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานด้านการวิจัยมารวมกัน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า วันนี้ได้ทำความเข้าใจกับทางราชภัฏ ว่า กระทรวงใหม่นั้น ภารกิจของ “ราชภัฏ” จะตอบโจทย์ประเทศที่จะพัฒนาไปสู่ 4.0 ได้อย่างไร นั่นคือ ราชภัฏจะต้องอาศัยองค์ความรู้มาพัฒนาประเทศ โดยสร้างความสามารถให้แก่ท้องถิ่นและสร้างสังคมแห่งโอกาสให้กระจายตัวมาสู่ท้องถิ่น ไม่ให้เกิดการกระจุกตัวแบบเดิม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ลง อย่างอนาคตเรากำลังพูดถึงสตาร์ทอัปหรือ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ก็ต้องเป็นลักษณะของโลคัลสตาร์ทอัป หรือ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่มาจากราชภัฏเป็นผู้สร้างทำให้ท้องถิ่นมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน บนฐานของท้องถิ่นและพื้นที่ หรืออย่างเอสเอ็มอีที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ก็ต้องใช้องค์ความรู้ที่มาจากราชภัฏทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงใหม่ส่วนหนึ่งเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษ 21 และตอนนี้ราชภัฏกำลังมองไปยังสเต็ปถัดไปแล้วว่า กลไกที่จะขับเคลื่อนไปสู่แนวคิดที่กระทรวงใหม่วางไว้เป็นอย่างไร เช่น กลไกการเชื่อมกันเองในราชภัฏ เชื่อมกับจังหวัดเพื่อให้ราชภัฏเป็นเสาหลักของพื้นที่ในการสร้างองค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม เชื่อมกับแหล่งทุนที่จะทำให้เงินทุนการวิจัยมาช่วยยกระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ได้อย่างไร นี่คือ สิ่งที่ราชภัฏจะขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ที่อธิการบดีราชภัฏแต่ละแห่งจะไปขยายผลและทำความเข้าใจกับประชาคมของตนเอง

นายสุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างของกระทรวงใหม่ จะมีการเพิ่มสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติ แยกออกมาจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความว่าให้ความสำคัญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น และเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการสร้างคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งสามศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพราะมนุษย์มีการใช้เหตุและผลนำมาสู่วิทยาศาสตร์ แต่ความเป็นมนุษย์ก็มีเรื่องของความดีความงามด้วย ซึ่งการยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่านการอยู่ร่วมกันคือ สังคมศาสตร์ และเรามองโลกอย่างไรเข้าใจโลกอย่างไร คือ เรื่องมนุษยศาสตร์ จึงเป็นที่มาของชื่อกระทรวงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้มีการใช้ชื่อว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องของอุดมศึกษามีความสำคัญจึงให้อุดมศึกษาขึ้นก่อน คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม แต่จากการที่ตนหารือกับ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เห็นว่า การให้น้ำหนักไม่ควรจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะต้องให้น้ำหนักเรื่องมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย จึงหารือกับทางผู้บริหาร วท. ซึ่งทาง วท. ก็เห็นด้วยที่ว่ากระทรวงใหม่ไม่จำเป็นต้องมีชื่อว่าวิทยาศาสตร์อยู่ภายในนั้น จึงเสนอว่าควรใช้ชื่อว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของการวิจัยหรือนวัตกรรมก็ล้วนมีเรื่องของเชิงสังคมและมนุษย์ด้วย แต่ตนยังไม่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนที่ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เสนอให้ใช้ชื่อว่า กระทรวงการอุดมศึกษาและพัฒนาสมรรถนะประเทศ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.ราชภัฏ) กล่าวว่า ตนมองว่าโครงสร้างของกระทรวงใหม่ไม่น่ามีปัญหา สิ่งสำคัญ คือ กระทรวงใหม่จะเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของราชภัฏเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ ต่อสังคมและประเทศได้อย่างไร เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของราชภัฏสมบูรณ์แบบ ซึ่งจากการหารือในราชภัฏเองนั้นพบว่ายังมีข้อกังวลอยู่ คือ ทำอย่างไรให้ราชภัฏไปสู่ความเป็นเลิศได้ เพื่อสนับสนุนเชิงพื้นที่ให้เข้มแข็ง ซึ่งมองว่าจะต้องมีการปฏิรูปราชภัฏ เพราะหากยังติดกับระบบราชการ ก็จะไม่เกิดความคล่องตัว ทั้งที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่างออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับกันแล้ว เช่น ติดขัดเรื่องของการใช้งบประมาณ หรืออย่างล่าสุดก็ระเบียบกระทรงการคลังเกี่ยวกับการจ้างลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้หากจะออกนอกระบบก็ต้องไปแก้ พ.ร.บ. ราชภัฏ แต่เท่าที่หารือทาง รมว.วท. ก็บอกว่า จะพยายามวางระบบกลไกเพื่อเป็นแรงสนับสนุนหรือเป็นต้นทุนให้ราชภัฏสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นมากที่สุด แต่ภาพรวมการประชุมคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ทางราชภัฏเห็นด้วยกับกระทรวงใหม่ ยินดีสนับสนุน และจะเตรียมการในการปฏิรูปกระทรวงใหม่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เรื่องของชื่อกระทรวงนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรม ล้วนแต่เป็นเรื่องของโปรเซส หรือกระบวนการทั้งสิ้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งชื่อกระทรวงใหม่โดยเอาเป้าหมายที่กระทรวงต้องดำเนินการมาเป็นตัวตั้ง อย่างที่ตนคิดว่า คือ “กระทรวงการอุดมศึกษาและพัฒนาสมรรถนะประเทศ” ซึ่งจะสื่อได้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย หรือนวัตกรรมต่างๆ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาสมรรถนะประเทศทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นกระทรวงแรกๆ ที่พูดถึงเป้าหมายในการดำเนินการอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือโครงสร้างกระทรวงใหม่ก็จะยังเกิดความทับซ้อนกัน เช่น มหาวิทยาลัยเชิงวิจัยก็ยังทำหน้าที่ทับซ้อนกับมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ จึงมองว่าจะต้องทำให้ความทับซ้อนดังกล่าวเป็นลักษณะของความช่วยเหลือกัน และจะต้องปรับออกจากระบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ และการดำเนินการจะต้องมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น จังหวัด มิเช่นนั้น ก็จะเกิดการบอกว่านี่งานของราชภัฏ งานของจังหวัด ก็ไม่เกิดความเชื่อมโยง หรือแย่งกันทำงานหรือต่างคนต่างทำ ส่วนเรื่องของการมีสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ออกมาเพิ่มเติมจากสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นคำตอบในการลดความขัดแย้งที่มองว่าจะกลายเป็นการมุ่งเป้าไปที่ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว






กำลังโหลดความคิดเห็น