เฉลิมฉลองในโอกาสฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของชาติ สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” Celebrating the National Glass Plate Negative Registered as UNESCO Memory of the World ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 ก.ค. 2561 เวลา 8.30 - 19.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์ - อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ดูรายละเอียด http://www.thaiglassnegative.com
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม และ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ให้การต้อนรับ ในการนี้ คุณสิริกิติยา เจนเซน เข้าร่วมพิธีเปิดและนำภาพถ่ายมาร่วมกิจกรรมการอวดภาพภายในงานด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า ในอดีตใช้วิธีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เขียนลงในคัมภีร์ จดหมายเหตุ พงศาวดาร ซึ่งให้ความรู้ความกระจ่างได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เห็นภาพ ยากต่อการจินตนาการ เมื่อโลกมาถึงยุคหนึ่ง มาประดิษฐ์ฟิล์ม ในลักษณะของแผ่นกระจก การจะบันทึกบุคคล หรือเหตุการณ์ผ่านฟิล์มกระจกนั้น สิ่งที่เราเคยใช้คำพูดกันว่า จะหนังสือกี่บรรทัด หนังสือกี่เล่มก็ตาม ไม่เท่ากับเห็นภาพด้วยตา ไม่ได้เห็นของจริง แต่ได้เห็นภาพทำให้เราสามารถสร้างจินตนาการที่กว้างไกลกว่าอ่านจากลายลักษณ์อักษร เพราะฉะนั้น ฟิล์มกระจกนั้นมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเก็บไว้นานวันเข้า และภาพที่ปรากฏบนแผ่นกระจกนั้นเป็นเรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับบุคคล หรือเหตุการณ์ สามารถย้อนไปศึกษาค้นกว้าได้ จะเปิดโลกทัศน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง วิถีชีวิตที่เป็นอยู่ได้อย่างชัดเจน และยิ่งนำมาประกอบกับการจดบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะทำให้เราได้ความกระจ่างแจ้งสุดพรรณนา สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า มรดกความทรงจำ ถ้าเป็นของชาติก็เป็นมรดกความทรงจำของชาติ ถ้ามีความหมายกว้างไกลกว่าชาติ คือลักษณะข้ามชาติ เราเรียกว่า มรดกความทรงจำของโลก
“ขอขอบคุณทุกคนที่เห็นความสำคัญของแผ่นกระจกเหล่านี้ว่ามีค่าเกินกว่าเป็นมรดกของชาติ จึงได้นำเสนอตามลำดับชั้นขึ้นไปจนถึง องค์การยูเนสโก จนกระทั่งได้รับมติให้รวบรวมไว้และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลก โดยประเทศไทยเป็นเจ้าของ นี่เป็นที่มาของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ถ้าหากนำนิทรรศการนี้ไปจัดนิทรรศการหมุนเวียนตามสถานที่สำคัญๆ ในต่างจังหวัดได้จะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทยที่อยู่ห่างไกล และเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรักชาติ ว่าประเทศไทยมีมรดกความทรงจำโลก”
นายวีระ กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้ได้คัดเลือกภาพจากฟิล์มกระจก 150 ภาพมาจัดแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 8 หัวข้อ ได้แก่ 1. มองสยามผ่านฟิล์มกระจก นำเสนอการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา 2.สัญลักษณ์ของชาติ นำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของชาติไทย ได้แก่ ช้างไทยและศาลาไทย 3. พระราชพิธี พิธี และเหตุการณ์สำคัญ อาทิ ภาพที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีโสกัณต์ พระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า 4. การพัฒนาประเทศ นำเสนอภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในบ้านเมือง 5. ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี อาทิ ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกายของบุรุษและสตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์ 6. อาคารสถานที่ นำเสนอภาพเกี่ยวกับโบราณสถาน วัด อาคารสถานที่ สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยนั้น 7. บุคคล นำเสนอภาพบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อสังคมสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5และ 8. สยามกับสังคมโลก นำเสนอภาพการเสด็จประพาสต่างประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ภายในนิทรรศการ ยังได้มีการสาธิตการทำฟิล์มกระจกและการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก การจำหน่ายของที่ระลึก การถ่ายภาพย้อนยุคอีกด้วย
น.ส.กรพินธุ์ ทวีตา ผู้อำนวยการกลุ่มจดหมายเหตุและบริการ เล่าว่า นับเป็นครั้งแรก ที่นำฟิล์มกระจกซึ่งถือเป็นภาพต้นฉบับมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับชม ตามปกติแล้วจะต้องเก็บรักษาในห้องควบคุมอุณหภูมิที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40% โดยภาพชุดพระสมุดวชิรญาณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กว่า 30000 ภาพ รวม 828 กล่อง ล้วนเป็นภาพต้นฉบับที่หาชมยาก และมีความสมบูรณ์ แต่ละภาพล้วนบอกเล่าเรื่องราว ของประเทศไทยในสังคมโลก นอกจากฟิล์มกระจก ที่มีเก็บรักษา ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ยังมีฟิล์มกระจกที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ร.4 ถูกเก็บรักษาไว้ในต่างประเทศคือพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนที่สหรัฐอเมริกาและพระราชวังวินเซอร์ของประเทศอังกฤษ
...ภาพที่นำมาจัดนิทรรศการ แต่ละภาพมีคุณค่า บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เยาวชน ผู้ที่สนใจ ไม่ควรพลาดเข้าชม