xs
xsm
sm
md
lg

“หนังตาตก เคี้ยวลำบาก เห็นภาพซ้อน” สัญญาณเตือนโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นพ.ปิยะ เชิญถนอมวงศ์
ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี

หากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ เริ่มมีอาการผิดปกติรบกวน เช่น หนังตาตก เคี้ยวลำบาก เห็นภาพซ้อน อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อ และหากมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ การทำงานของกล้ามเนื้อ เริ่มจาก “สมอง” สั่งงานผ่าน “เส้นประสาท” โดยจะหลั่ง “สารสื่อประสาท” ไปจับกับ “ตัวรับสารสื่อประสาท” เพื่อให้กล้ามเนื้อแต่ละมัดทำงาน โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น อาจเป็นอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิด MG (Myasthenia Gravis) อันเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ยับยั้งการทำงานของ “สารสื่อประสาท” ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG

อาการแสดงของโรค สามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบบ่อยบริเวณใบหน้า เช่น หนังตาตก เห็นภาพซ้อน เคี้ยวลำบาก กลืนลำบาก พูดลำบาก และอาการที่รุนแรง คือ หายใจลำบาก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของโรคอาจมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเบาลงได้ในแต่ละช่วงของวัน สัมพันธ์กับการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ (ยิ่งใช้มาก ยิ่งอ่อนแรงมาก) แต่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด MG นี้ จะไม่พบอาการชา หรืออาการปวดร่วมด้วยแต่อย่างใด

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัย จำเป็นต้องได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการ กับอายุรแพทย์ระบบประสาทโดยเฉพาะ ในส่วนของการรักษา มีตั้งแต่ระดับการประคับประคองอาการ ไปจนถึงการผ่าตัดรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ โดยจำแนกการรักษาออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

1. รักษาด้วยยา Mestinon ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาท ทำให้สารสื่อประสาททำงานกับตัวรับสารสื่อประสาทได้ดีขึ้น
2. รักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ แต่ยากลุ่มดังกล่าว มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก
3. รักษาด้วยการฟอกเลือด เพื่อกำจัดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติออกจากร่างกาย แต่มักรักษาด้วยวิธีนี้ในระยะวิกฤติเท่านั้น
4. รักษาด้วยยาอิมมูโนโกลบูลิน ออกฤทธิ์จับกับภูมิคุ้มกันที่เป็นสาเหตุของโรค ทำให้อาการอ่อนแรงดีขึ้น
5. รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทมัสออก เนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด MG สัมพันธ์กับโรคเนื้องอกต่อมไทมัส ซึ่งผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด MG ทั้งที่มีและไม่มีเนื้องอกต่อมไทมัส อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการผ่าตัดต่อมไทมัสออก และสามารถลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันลงได้

การผ่าตัดต่อมไทมัสโดยศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก

ต่อมไทมัส ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย แต่จะเริ่มทำงานน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
โดยตำแหน่งของต่อมไทมัสนั้นอยู่ภายในทรวงอก (ภายใต้กระดูกสันอก ระหว่างปอด 2 ข้าง ด้านหน้าต่อหัวใจ และหลอดเลือดทรวงอก) การผ่าตัดนำต่อมไทมัสออก เพื่อรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด MG จึงจำเป็นต้องกระทำโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและทรวงอก เนื่องจากศัลยแพทย์สาขานี้มีความชำนาญในตำแหน่งดังกล่าว เอื้อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยการผ่าตัดมีทั้งวิธีดั้งเดิม และการผ่าตัดเทคนิคใหม่ ที่นอกจากรอยแผลจะมีขนาดเล็กแล้ว ผู้ป่วยยังฟื้นตัวได้เร็วด้วยเช่นกัน

การผ่าตัดเทคนิคใหม่ “แผลเล็ก ฟื้นตัวไว”

•การผ่าตัดวิธีดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดผ่านการตัดกระดูกสันอกตรงกลาง (ขนาด 15-20 เซนติเมตร) ข้อดีคือไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ข้อเสียคือ ผู้ป่วยจะมีแผลใหญ่กลางหน้าอก และมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย
•การผ่าตัดเทคนิคใหม่แบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก (ขนาด 1-2 เซนติเมตร) จำนวน 3-4 แผลบริเวณทรวงอก ซึ่งแผลขนาดเล็กทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย จึงฟื้นตัวได้เร็ว มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนน้อยกว่า แต่กรณีผู้ป่วยที่มีเนื้องอกต่อมไธมัสขนาดใหญ่อาจไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยจำนวน 80% ที่ได้รับการผ่าตัดนำต่อมไทมัสออก อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจะดีขึ้น และจำนวน 60-70% อาจมีช่วงสงบของโรค และอาจไม่ต้องรับประทานยาต่อ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการผ่าตัดนำต่อมไทมัสออกนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น