ลาพักร้อนปีนี้เลือกไปประเทศนิวซีแลนด์ ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีธรรมชาติงดงาม สวยสงบ และน่าพักผ่อนยิ่งนัก และแน่นอนว่าไม่ผิดหวังกับทริปท่องเมืองฝั่งเกาะใต้ตลอด 10 วัน
นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่นอกจากจะมีภูมิทัศน์สวยงามตลอดแทบจะทุกเส้นทางการเดินทาง ก็ยังมีกิจกรรมมิใช่น้อย ตั้งแต่กิจกรรมทางธรรมชาติไปจนถึงการผจญภัยสุดระทึกประเภทวัดใจก็มากมาย ส่วนที่เหมาะสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งก็มี อาทิ ล่องแก่ง ปีนเขา ขี่จักรยาน พายเรือแคนู โรยตัว ฯลฯ และมีอีกหลายกิจกรรมที่เหมาะสำหรับครอบครัว
หรือถ้าครอบครัวไหนไม่เน้นผจญภัย ก็ไปชมพิพิธภัณฑ์ หรือสัมผัสธรรมชาติพืชพันธุ์นานาชนิดที่น่าตื่นตาตื่นใจก็เพียบ
ความจริงนิวซีแลนด์เป็นประเทศเป้าหมายที่ตั้งใจอยากจะไปหลายครั้งแล้ว เพราะเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านธรรมชาติ บ้านเมืองสวยงาม จึงเลือกไปในช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบาย ซึ่งทำให้จินตนาการไปก่อนแล้วว่าคงทำให้พบแต่ความสวยงาม สดชื่น สบายใจ และงดงามเงียบสงบ
ซึ่งก็เป็นจริงอยู่มิใช่น้อย.. แต่ในความสวยสงบงดงามนั้น เราก็มักได้ข่าวคราวที่เซอร์ไพรส์จากประเทศนี้อยู่บ่อยครั้ง!
เมื่อปีที่แล้วก็ฮือฮาหลังจากประเทศนี้ได้ผู้นำหญิงคนใหม่ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) วัย 37 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ และเป็นหนึ่งในผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของโลกคนหนึ่งด้วย ยังจำได้เมื่อต้นปีเธอก็เพิ่งแถลงว่าเธอเตรียมแผนลาคลอด 6 สัปดาห์ หลังจากที่เธอตั้งครรภ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 และกำหนดจะคลอดในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 จนกลายเป็นนักการเมืองหญิงที่ตั้งครรภ์ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
นโยบายของอาร์เดิร์น ที่ใช้ในการหาเสียง อาทิ นโยบายเล่าเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ชนะใจคนหนุ่มสาวจำนวนมาก รวมทั้งการลดโทษให้แก่หญิงทำแท้ง และทำให้เด็กนิวซีแลนด์พ้นจากความยากจน โดยให้ความสำคัญในการสงเคราะห์การศึกษาสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ขาดโอกาส รวมถึงเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิสตรีและปัญหาสุขภาพจิตจนครองใจชาวนิวซีแลนด์
เธอเน้นนโยบายเรื่องเด็ก เยาวชน และสตรีได้โดนใจคนรุ่นใหม่ อาจเป็นเพราะนิวซีแลนด์กำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว!
นิวซีแลนด์มีจำนวนตัวเลขความรุนแรงในครอบครัวสูงจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รายงานจาก NZ Herald เมื่อปี 2559 พบว่าประมาณ 80% ของความรุนแรงในครอบครัวไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ตำรวจสามารถเข้าไปช่วยเหลือถึง 105,000 กรณี และถ้าทุกๆ ความรุนแรงได้รับการแจ้ง จะทำให้มีตัวเลขสูงถึง 525,000 กรณี
และที่น่าตกใจคือในกรณีที่เกิดความรุนแรงมักพบว่ามีเด็กและเยาวชนประมาณ 80% มักจะอยู่รับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้น!
ทั้งที่ในประเทศนิวซีแลนด์ถือว่า ความรุนแรงในครอบครัว เป็นอาชญากรรม ซึ่งตำรวจจะทำการดำเนินคดีอย่างจริงจัง และพยายามสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในชาติตระหนักถึงปัญหานี้แบบเข้มข้นเพื่อให้ความรู้อย่างเจาะลึกเกี่ยวกับเหยื่อและผู้กระทำผิด โดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนที่เป็นเหยื่อกล้าออกมาขอความช่วยเหลือและหวังว่าผู้กระทำผิดจะมีความกล้าพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมความรุนแรงของตนเอง
จำได้ว่าเมื่อครั้งที่พบเห็นข่าวชิ้นนี้ก็ประหลาดใจเหมือนกัน เพราะไม่คิดว่าประเทศที่มีทิวทัศน์สวยงาม สงบเงียบ ประชากรมีจำนวนน้อยกว่าแกะ และน่าท่องเที่ยวเยี่ยงนี้ กลับไม่ได้จบลงที่ประชาชนมีความสุขเสมอไป!
แท้จริงแล้ว ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่ไม่ใช่สารตั้งต้นที่จะทำให้ไม่มีปัญหานั้น
เพราะปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว มันได้กระจายตัวไปทั่วทุกมุมโลก และกลายเป็นปัญหาสังคมที่กำลังประสบไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีปัญหามิใช่น้อย
ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการศึกษาระดับสูง หรือแก้ด้วยการสั่งการผ่านนโยบายอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่ต้องสร้างรากฐานจากสถาบันครอบครัว
สถาบันครอบครัวต้องปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งกาย วาจา และใจ
ประเด็นเรื่องพ่อแม่ทำร้ายลูก สามีทำร้ายภรรยา เป็นปัญหาสังคมที่มีมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น
สาเหตุหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ทัศนคติผิดๆ คนเป็นสามีก็คิดว่าเป็นเจ้าของภรรยา หรือพ่อแม่ก็คิดว่าลูกเป็นสมบัติของตัวเอง แล้วจะทำอย่างไรก็ได้
ปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง อีกทั้งยังมีอีกหลายสาเหตุและกลายเป็นที่มาของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และสุดท้ายเด็กมักกลายเป็นเหยื่อเสมอ
แล้วคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายนี้ด้วยหรือไม่ ลองมาสำรวจกันดู
หนึ่ง – คิดว่าลูกเป็นสมบัติของตน
ความคิดเช่นนี้อันตรายมาก เพราะพ่อแม่ที่คิดว่ามีลูกแล้ว ลูกเป็นสมบัติของเรา หรือเราเป็นเจ้าชีวิตเขา เรียกว่าจะคอยกำหนดและบงการชีวิตลูก เวลาลูกจะทำอะไรต้องอยู่ในสายตาตลอด และพ่อแม่ประเภทนี้เวลาทำร้ายลูกก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองผิด
สอง – ทำตัวอย่างให้เห็นเป็นประจำ
ภาพพ่อทำร้ายแม่ หรือพ่อแม่ทะเลาะกัน ใช้วาจาหรือคำพูดที่รุนแรงใส่กันเป็นประจำ ทำให้เด็กมองเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ ย้ำๆ จนเคยชินกับความรุนแรง และเด็กที่ซึมซับกับเหตุการณ์ประเภทนี้บ่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไปทำพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้กับผู้อื่น
สาม - ลงโทษเพื่อให้หลาบจำ
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการทำโทษลูก คือ การทำให้ลูกหลาบจำ และการที่จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้รับการแก้ไขก็ต้องใช้วิธีทำให้เข็ดหรือหลาบจำ จะได้ไม่ทำอีก โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการทำร้ายลูกเข้าไปอีก
สี่ - ควบคุมตัวเองไม่ได้
พ่อแม่บางคนอารมณ์ร้อน ใจร้อน และยามที่อารมณ์ร้อนก็มักจะบันดาลโทสะ เริ่มตั้งแต่ขึ้นเสียง ใช้เสียงดัง ขว้างปาข้าวของ หรือทุบตีคนใกล้ชิด และพออารมณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็มักจะคิดได้ และก็รู้สึกผิด เพียงแต่จะมีโอกาสได้แก้ตัวได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมมาแล้ว
ห้า - ติดสารเสพติดหรือเมาสุรา
สารเสพติดทำให้คนเราเปลี่ยนไป จากพ่อแม่ที่ใจดี สามารถเปลี่ยนไปเป็นคนละคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ รวมไปถึงน้ำเมาที่ทำให้คนเราเปลี่ยนนิสัยเป็นคนละคนทีเดียว มีพ่อแม่จำนวนมากที่ปกติเป็นคนใจดีรักลูกมาก แต่พอเมาเหล้ากลายเป็นคนละคน เมาทำร้ายลูกเมีย หรือกระทั่งลงไม้ลงมือ พอหายเมาก็กลับมาเป็นปกติ บางครอบครัวก็พยายามทนรับสภาพเพราะตอนไม่เมาเป็นสามีหรือพ่อที่น่ารักมาก
หก – ส่งต่อความรุนแรง
มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ถูกกระทำรุนแรงมาจากพ่อแม่ของตัวเองมาก่อน พอถึงวันที่ตัวเองเป็นพ่อแม่บ้าง ก็ทำให้ใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง เป็นการส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น เพราะการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น
ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมโลกที่แพร่กระจายไปทั่วทุกหนแห่ง ยิ่งอยู่ในยุคเทคโนโลยี ตัวเร่งเร้าและกระตุ้นความรุนแรงผ่านสื่อออนไลน์ก็มีมากมายหลากหลายชนิด ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมากขึ้น เพราะสังคมยิ่งเปราะบาง ยิ่งต้องสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง
และแน่นอนความงดงามของธรรมชาติก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ปราศจากความรุนแรง!