xs
xsm
sm
md
lg

สภา กทม.ตีความ “มูลนิธิฯ” บริหาร “หอศิลป์” ไม่ขออนุญาต ผิด กม.จับตา 15 พ.ค.เคาะข้อสรุป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. เผย “มูลนิธิฯ” บริหาร “หอศิลป์” เข้าข่ายผิดระเบียบกรุงเทพฯ มาตรา 96 เหตุไม่ผ่านการอนุญาตจากสภา กทม. และ รมว.มหาดไทย จับตาประชุมวันที่ 15 พ.ค. เคาะข้อสรุป 2 แนวทาง ให้มูลนิธิฯ บริหารต่อ แต่ทำให้ถูกต้อง หรือ กทม. ดึงกลับมาบริหารเอง หลังหมดสัญญาในปี 2564

วันนี้ (12 พ.ค.) นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณี กทม. เตรียมดึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มาบริหารเองแทนมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังคงต้องรอที่ประชุมผู้บริหาร กทม. ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 15 พ.ค. นี้ ว่า จะดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารหอศิลป์ฯ อย่างไร กทม. จะบริหารเองหรือว่าจะให้มูลนิธิหอศิลป์ บริหารงานต่อไป

“สาเหตุมาจากสภากรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อสังเกตว่า การบริหารหอศิลป์ โดยมูลนิธิฯ อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 96 ของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่ระบุว่า ในกรณีจำเป็นกรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริหาร หรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน” นายเฉลิมพล กล่าว

นายเฉลิมพล กล่าวว่า สภา กทม. มีความเห็นว่า มูลนิธิฯ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับ กทม. เพราะเป็นนิติบุคคล เข้าข่ายเป็นเอกชนตามมาตรา 96 และการเข้ามาบริหารของมูลนิธิฯ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. และ รมว.มหาดไทย จึงอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็มีข้อเสนออยู่ 2 แนวทางคือ 1. ให้มูลนิธิฯ ดำเนินการให้ถูกต้อง คือ ให้สภา กทม. เห็นชอบ รมว.มหาดไทย ลงนาม แล้วบริหารต่อไป หรือ 2. กทม. นำมาบริหารเอง ซึ่งก็มีข้อเสนอให้สำนักวัฒนธรรมฯ เป็นผู้บริหาร ผ่านการตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารอาจมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ดนตรี ภาคีเครือข่ายศิลปิน หรือมาจากมูลนิธิฯ เพราะการบริหารหอศิลป์จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะ หรืออาจใช้วิธีการจ้างเหมาก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดยุคแรกจึงให้มูลนิธิฯ เข้ามาบริหาร นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในอดีต กทม. ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานมูลนิธิ ในการบริหารหอศิลป์ แต่ต่อมามีข้อกังวลว่าจะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จึงแยก ผู้ว่าฯ กทม. เป็นที่ปรึกษามูลนิธิฯ ส่วนมูลนิธิฯ เองก็บริหารหอศิลป์ ด้วยคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ผ่านการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการคัดสรรฯ ที่มาจาก ผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง โดยการบริหารถือว่ามีความเป็นอิสระจาก กทม. ทำให้เข้าไปกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ ไม่ได้ หรือเกิดช่องว่างขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนมองว่ามูลนิธิฯ ถือเป็นสาขาหนึ่งของ กทม. ไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 96 แต่สภา กทม. เห็นว่า ไม่ใช่ ซึ่งต้องรอการประชุมวันที่ 15 พ.ค. นี้ ว่า กทม. จะมีข้อสรุปอย่างไร ให้มูลนิธิฯ ทำให้ถูกต้องแล้วบริหารต่อไป หรือ กทม. เข้ามาบริหารเอง

“มูลนิธิฯ มีการทำสัญญาในการบริหารหอศิลป์เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554 โดยจะหมดสัญญาในปี 2564 ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าอาจรอให้หมดสัญญาดังกล่าวแล้ว กทม. เข้ามาบริหารเอง เพราะที่ผ่านมา กทม. ก็สนับสนุนงบประมาณให้หอศิลป์ปีละกว่า 40 ล้านบาท มีเพียงปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้ให้งบประมาณ แต่ดูเรื่องของค่าน้ำค่าไฟ” นายเฉลิมพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกิดจากการเรียกร้องของกลุ่มศิลปินร่วมสมัยแห่งประเทศไทยที่มองว่า ประเทศไทยมีศิลปินมากเพียงพอที่ควรจะมีหอศิลป์มาเป็นพื้นที่รองรับการแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนปี 2539 สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้มีการขับเคลื่อนโครงการหอศิลป์ แต่กลับมาสะดุดลงในช่วงปี 2544 สมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยได้ปรับพื้นที่เพื่อนำไปเป็นพื้นที่ทางการค้า จนเกิดการคัดค้านอย่างหนัก จนต่อมาปี 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้สานต่อโครงการดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ เว็บไซต์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระบุว่า คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 2559 - ปัจจุบัน ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการมูลนิธิฯ นายปัญญา วิจินธนสาร รองประธานฯ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กรรมการ นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานันท์ กรรมการ นายเพชร โอสถานุเคราะห์ กรรมการ นายจุมพล อภิสุข กรรมการ นายภราเดช พยัฆวิเชียร กรรมการ นางวรรณพร พรประภา กรรมการ และ นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ

คณะกรรมการบริหารหอศิลป์ 2559 - ปัจจุบัน ประกอบด้วย ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต ประธานกรรมการบริหาร นายสุภัทร์ วนกำจร กรรมการ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ กรรมการ นายธวัชชัย สมคง กรรมการ นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร กรรมการ นายจักรพันธ์ วิลาสินีกุล กรรมการ นายวิภว์ บูรพาเดชะ กรรมการ นายวิโรจน์ ใจอารีรอบ กรรมการ และ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ กรรมการและเลขานุการ


กำลังโหลดความคิดเห็น