กทม. สั่ง 50 เขต ตรวจคุณภาพน้ำและตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ให้แล้วเสร็จใน 7 วัน หากพบไม่ได้คุณภาพให้แจ้งผู้ประกอบการแก้ไขใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการสั่งหยุดประกอบกิจการทันที
วันนี้ (5 พ.ค.) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่สำนักงานเขตลาดพร้าว จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มและตรวจคุณภาพน้ำของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบริเวณ ยู.ดี.แมนชั่น, แพลตทินั่มแมนชั่น ซ.นาคนิวาส 29 และ บีพีแมนชั่น ซ.นาคนิวาส 48 โดยมี นางสาวศศิชา ทับทิม ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ 50 เขต พบว่า มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ทั้งหมด 3,964 ตู้ เป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ และไม่มีใบอนุญาตถูกต้องถึง 3,804 ตู้ ซึ่งจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ปรากฏว่า ตู้น้ำหยอดเหรียญมากกว่า 80% คุณภาพของน้ำถูกสุขลักษณะแต่ไม่ได้หมายความว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านั้นมีใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนที่บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้รับความปลอดภัยจึงต้องเร่งดำเนินการให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งมีการบำรุง รักษาตู้น้ำดื่มตามระยะที่กำหนด
สำหรับวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพร้อมเก็บตัวอย่างน้ำดื่มไปตรวจสอบคุณภาพน้ำ จำนวน 3 จุด ซึ่งในภาพรวมบริเวณตั้งตู้น้ำดื่มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดย 2 จุดแรก ตู้น้ำดื่มทั้ง 2 ตู้ไม่มีใบอนุญาต ส่วนจุดที่ 3 ผู้ประกอบการมีการขอใบอนุญาตถูกต้อง ซึ่งในการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มไปตรวจสอบคุณภาพนั้นจะใช้เวลา 24 ชั่วโมงจึงจะทราบผล ทั้งนี้ เมื่อผลการตรวจพบว่าคุณภาพน้ำไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานจะสั่งให้หยุดดำเนินการทันที และหากผลน้ำดื่มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแต่เป็นตู้ที่ยังไม่มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องก็จะแจ้งให้ผู้ประกอบการมายื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของ สคบ. ด้วย เช่น การติดป้ายแจ้งเตือนต่างๆ หรือการติดป้ายวันเวลาที่เปลี่ยนไส้กรอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ ในหลายพื้นที่มีการดัดแปลงตู้น้ำดื่มมีการต่อพ่วงไส้กรองไว้ด้านนอกตู้แล้วให้น้ำวิ่งผ่านไส้กรอกนั้นถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายประชาชนควรงดบริโภคน้ำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม. ได้สั่งการให้ 50 เขต และสำนักอนามัย เร่งสำรวจตู้น้ำในพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำจากทุกตู้ไปตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งคาดว่าภายใน 7 วัน จะสามารถทราบจำนวนตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ชัดเจน และจำนวนตู้น้ำดื่มที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้คุณภาพจะแจ้งให้ผู้ประกอบการแก้ไขให้ได้มาตรฐานและถูกต้อง แต่หากผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก็จะให้หยุดให้ประกอบกิจการทันที
“ปัจจุบันค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มอยู่ที่ปีละ 2,000 บาท/ตู้ ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขค่าใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งจะต้องนำเสนอร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและให้สามารถประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ โดยในระหว่างนี้ผู้ประกอบการก็ต้องเสียค่าใบอนุญาตประกอบกิจการตามเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนที่บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้สังเกตที่ตู้ว่ามีป้ายการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงสังเกตดูว่ามีป้ายแจ้งการเปลี่ยนไส้กรอง ดูความสะอาดของตู้ บริเวณหรือจุดที่ตั้งตู้ ระวังเรื่องของไฟฟ้ารั่วด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้ดูแลรักษาตู้น้ำดื่มของตนให้สะอาด ได้มาตรฐาน มีการเปลี่ยนไส้กรองตามระยะที่กำหนด ตามปกติจะเปลี่ยนไส้กรองทุก 6 เดือน แต่ถ้าตู้น้ำดื่มนั้นมีการใช้งานมากก็จะต้องเปลี่ยนไส้กรองเร็วขึ้น และหากประชาชนพบตู้น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่เข้าตรวจสอบทันทีเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ