กรมอนามัย ชี้ ค่ากรดด่างหรือ pH ไม่ได้วัด “คุณภาพน้ำดื่ม” แต่เป็นเรื่องรสชาติ แต่มีกำหนดค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำดื่ม ต้องอยู่ระหว่าง 6.5 - 8.5 ตามเกณฑ์ WHO ย้ำ คุณภาพน้ำดื่มต้องดูสิ่งเจือปน ทั้งเชื้อโรค จุลินทรีย์ และสารเคมี โลหะหนักต่างๆ หลังมีคนทำคลิปบอกน้ำออกด่างคุณภาพดีกว่า
จากกรณีมีผู้ทำคลิปการทดลองคุณภาพน้ำดื่มยี่ห้อต่างๆ โดยการทดสอบค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่า pH ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการสื่อสารว่า น้ำดื่มที่มีค่าค่อนข้างไปทางด่างคือมีสีเขียวอมฟ้า คือมีคุณภาพดีกว่าน้ำดื่มที่มีค่าค่อนไปทางกรดหรือมีสีเหลืองออกส้ม จนทำให้ผู้คนอาจเกิดความเข้าใจผิดได้
วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงคุณภาพของน้ำดื่ม ว่า ค่าความเป็นกรดด่างหรือค่า pH ไม่ได้บอกถึงคุณภาพของน้ำดื่มแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของรสชาติมากกว่า ซึ่งหากน้ำมีความเป็นด่างมากเกินไปก็จะมีรสชาติออกฝาด ดังนั้น การผลิตน้ำดื่มจึงต้องมีค่า pH ที่เป็นกลางๆ หน่อยจึงดี ซึ่งตามมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย โดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย มีการกำหนดมาตรฐานของค่าความเป็นกรดด่างเอาไว้ คือ ต้องอยู่ในระหว่างค่า 6.5 - 8.5 ซึ่งเป็นเกณฑ์ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้น หากน้ำดื่มแต่ละยี่ห้อผลิตน้ำออกมาแล้วมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5 - 8.5 ก็ถือว่าผ่านมาตรฐาน
นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับคุณภาพของน้ำดื่มบริโภคนั้น จะพิจารณาจากสิ่งเจือปน ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ 1. สิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโรค แบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในน้ำที่ทำให้ก่อโรค และ 2. สิ่งไม่มีชีวิต เช่น สารเคมีต่างๆ แร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ น้ำที่สะอาดจะต้องไม่มีสิ่งเจือปนหรือมีน้อยที่สุด ซึ่งค่ามาตรฐานของน้ำดื่มบริโภคประเทศไทยมีการกำหนดไว้ ยกตัวอย่าง เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และเชื้อ อี.โคไล ต้องไม่พบเลยต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร หรือตะกั่ว ต้องไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แคดเมียม ไม่เกิน 0.003 มิลลิกรัมต่อลิตร สารหนู ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ปรอท ไม่เกิน 0.001 มิลลิกรัมต่อลิตร ซัลเฟตและคอลไรด์ ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นต้น
นพ.วชิระ กล่าวว่า ส่วนที่มีการสื่อสารว่า “น้ำอัดลม” ที่ทดสอบออกมาค่อนข้างเป็นกรดไม่ดีต่อสุขภาพนั้น จริงๆ แล้วน้ำที่มีค่าความเป็นกรดไม่ใช่ไม่ดีต่อร่างกาย เพราะอย่างน้ำมะนาวก็ถือว่าเป็นกรดเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วในกระเพาะอาหารของคนเราข้างในก็เป็นกรดอยู่แล้ว เรื่องความเป็นกรดด่างจึงไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพมากนัก แต่เรื่องของน้ำอัดลมมีผลต่อสุขภาพจริงๆ คือ เรื่องของน้ำตาลมากกว่า เพราะการได้รับน้ำตาลมากเกินไปก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ ซึ่งหลังจากกรมสรรพสามิตเริ่มเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเมื่อ ก.ย. 2560 ก็พบว่า บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ท้งหลาย ทั้งชาเขียวและน้ำอัดลม ก็เริ่มปรับตัวในการใส่น้ำตาลน้อยลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อถามว่าน้ำประปาในปัจจุบันมีคุณภาพพอในการดื่มได้หรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำประปาบางสาขามีการรับรองแล้วว่าสามารถดื่มได้เลย ซึ่งกรมอนามัยพยายามรับรองน้ำประปาดื่มได้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นน้ำประปาที่ผลิตโดยการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งมีการปรับปรุงท่อขนส่งต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง เพราะหากยังเป็นท่อหรือกีอกรุ่นเก่าอาจมีสิ่งเจือปนอยู่ได้ ซึ่งหากมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น กรมฯ ก็จะดำเนินการประเมินและตรวจสอบเพื่อรับรองว่าเป็นน้ำประปาดื่มได้