xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงบน “เกาะหลีเป๊ะ” แดนสวรรค์การดำน้ำ กับ 3 ปัญหาใหญ่ด้านรักษาพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

เกาหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถือเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวในการมาดำน้ำ เพราะความสวยงามของทั้งสถานที่ ธรรมชาติ หาดทราย รวมไปถึงท้องทะเล ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่เรื่องจริงที่ต้องยอมรับคือ ระบบบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาล ยังคงมีปัญหาใหญ่ๆ ถึง 3 เรื่อง

“งบสุขภาพ” ไม่เพียงพอดูแลคนทั้งเกาะ

นายพงษ์ธร แก้วผนึก หรือที่ชาวเกาะหลีเป๊ะเรียกกันว่า “หมอหนึ่ง” นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะหลีเป๊ะ ให้ข้อมูลว่า ประชากรบนเกาะหลีเป๊ะมีอยู่ประมาณ 1,300 กว่าคน งบประมาณในการดูแลสุขภาพตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งโอนมาตามรายหัวประชากร จึงไม่เพียงพอในการดูแลคนบนเกาะทั้งหมด เนื่องจากยังมีประชากรแฝงที่ต้องดูแลด้วย ทั้งผู้ประกอบการบนเกาะและแรงงาน ซึ่งรวมแล้วมีถึง 4-5 พันคน และนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวยังเกาะอีก

นายพงษ์ธร กล่าวว่า อัตราการเข้ารับบริการ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ เฉลี่ยอยู่ที่ 120 คนต่อเดือน ส่วนใหญ่มาด้วยอุบัติเหตุ และอาหารเป็นพิษ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลถือว่าโอเวอร์โหลด โดยอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี ส่วนรายได้จากการดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมก็มีบ้าง แต่ถือว่าน้อย ทั้งที่มีผู้ประกอบการและลูกจ้างจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วมีการทำประกันสังคมให้ลูกจ้างค่อนข้างน้อย ดังนั้น การดูแลผู้ประกันตนจึงเป็นลักษณะของการให้จ่ายก่อนแล้วไปเบิกภายหลัง รพ.สต.จึงสามารถคงอยู่ได้

ส่วนการหารายได้เพิ่มเติม เพื่อมาดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวนั้น นายพงษ์ธร กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคใต้ บริจาคกว่า 1 ล้านบาท ในการสร้างอาคารขึ้นใหม่ 1 หลัง เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมสนับสนุนเตียงฉุกเฉิน เตียงทำคลอด เนื่องจากเห็นความสำคัญว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวควรได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ ส่วนของไฟฟ้า ในอดีตต้องมาปั่นไฟใช้เอง แต่ต่อมาได้ใช้ไฟฟ้าจากภาคเอกชน ซึ่งตกยูนิตละ 25 บาท เดือนหนึ่งก็ประมาณ 2 หมื่นบาท แต่สามารถเบิกได้เพียง 6,000 บาทแต่หลังจากขอความอนุเคราะห์ ก็ได้รับฟรีค่าไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนในการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว

ส่วนในอนาคต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สตูล ตั้งใจว่าจะสร้างรายได้เข้า รพ.สต. ซึ่งปัจจุบันที่กำลังเป็นที่นิยมคือการร่วมกับบริษัทประกันสุขภาพนักท่องเที่ยว เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพียงแต่ปัญหาของ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะคือ ไม่มีแพทย์มาประจำบนเกาะ มีแต่พยาบาล ทำให้ยังไม่ผ่านมาตรฐานตรงนี้ ก็ไม่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวที่มีประกันแล้วไปเบิกเงินค่าประกันมาได้ ที่อยากร้องขอคือการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างน้อย 1 คนมาประจำ ก็อาจทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้มากขึ้น” นายพงษ์ธร กล่าว

บุคลากรไม่พอ-ทำงานบนความเสี่ยง

นายพงษ์ธร เล่าอีกว่า บนเกาะหลีเป๊ะมีคลินิกเอกชน 3 แห่ง ซึ่งช่วยรองรับดูแลนักท่องเที่ยวที่มีเงินหรือมีประกัน แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่ไม่มีประกัน ก็จะมารักษาที่ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากเป็น รพ.ของรัฐ ราคาตามอย่างรัฐ โดยบุคลากรของ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะปัจจุบันมี 7 คน แบ่งเป็น พยาบาล 2 คน นักวิชาการ 3 คน ลูกจ้าง 1 คน และเวชกิจฉุกเฉินอีก 1 คน ซึ่งเท่าที่มีอยู่นี้ก็ถือว่าไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่ต้องดำเนินการ และเร็วๆ นี้จะมีพยาบาลลาออกอีก 1 คน เนื่องจากติดปัญหาด้านการเดินทาง ก็ส่งผลให้บุคลากรน้อยลงไปอีก

ไม่เพียงแค่เรื่องจำนวน แต่ลักษณะงานยังต้องเสี่ยงเผชิญความไม่ปลอดภัยด้วย นายนราศักดิ์ บินดาโอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมอบอย” พยาบาลวิชาชีพเวชปฏิบัติชำนาญการ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ ระบุว่า ในการรักษาพยาบาลโดยปกติจะมีการปรึกษากับแพทย์บนฝั่งว่าจะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างไร ซึ่งหากแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องส่งต่อก็ต้องส่งต่อไปรักษาบนฝั่ง ซึ่งการเดินทางจากเกาะหลีเป๊ะไปก็ถือว่าไกล และการขนย้ายผู้ป่วยก็มีความลำบาก เพราะต้องย้ายขึ้นซาเล้ง บ้างต้องต่อเรือหางยาว แล้วค่อยไปต่อสปีดโบท เนื่องจากหากน้ำลดสปีดโบทก็จะเข้าฝั่งไม่ได้ ซึ่งหากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น คือช่วงฤดูมรสุมก็จะอันตราย เพราะคลื่นสูงกว่า 5 เมตร และยิ่งหากต้องส่งต่อในช่วงกลางคืนในช่วงฤดูมรสุมแล้ว ยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 เท่า แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการสอนว่า การช่วยเหลือผู้อื่นต้องคำนึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย แต่พออยู่หน้างานแล้วเพื่อผู้ป่วยที่จะมีโอกาสรอดชีวิต เราก็พร้อมเสี่ยงอันตราย ซึ่งหากมีการช่วยเหลือในเรื่องของความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วยก็จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจ เหมือนกับการที่ออกไปกับรถพยาบาลแล้วเกิดอุบัติเหตุ

ยาฉุกเฉินไม่เพียงพอ

นายพงษ์ธร กล่าวว่า เนื่องจาก รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ มีปริมาณการดูแลคนไข้ที่สูงกว่า รพ.สต.ทั่วไป เพราะต้องรับผิดชอบผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และนักท่องเที่ยวจำนวนมากด้วย จึงจำเป็นต้องมียาบางตัวหรือยาฉุกเฉินบางอย่างไว้สำรองในการดูแลผู้ป่วย แต่ด้วยความเป็นระดับของ รพ.สต.จึงไม่สามารถสำรองยาบางอย่างได้ หรือบางอย่างก็ไม่สามารถสำรองได้เยอะ ต้องเป็นระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ถึงจะมีการสำรองได้ โดยปัจจุบันยาฉุกเฉินที่มีใน รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ เช่น อะดรีนาลีน เป็นต้น หรืออย่างกรณีวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน ซึ่งบนเกาะหลีเป๊ะมีสุนัขจรจัดจำนวนมาก มีผู้ถูกสุนัขกัดเฉลี่ย 15 - 20 รายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ มีสำรองวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่เพียงพอ ซึ่งทาง รพ.สตูล ก็จะมีการส่งมาให้ที่ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะบ้าง ส่วนเซรุ่มที่ใช้ฉีดให้ผู้ถูกกัดเป็นแผลเหวอะหวะ นั้น รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะไม่มีเลย ต้องไปฉีดที่ รพ.สตูล เท่านั้น

อยากให้มีการยกระดับหรือพัฒนาให้ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ สามารถสำรองยาฉุกเฉินหรือยาจำเป็นต่างๆ ที่แอดวานซ์ไปกว่า รพ.สต.ปกติ ภายใต้การปรึกษาของแพทย์ รพ.สตูล เหมือนเป็น รพช.ขนาดเล็กก็ได้ เพื่อให้สามารถดูแลคนไข้ได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะที่สุดแล้วตรงนี้จะเป็นหน้าตาให้แก่ประเทศ เนื่องจากหากสามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจในการมาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงสามารถดูแลประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากชาวเกาะจะไม่ชอบไปรักษาบนฝั่ง เพราะมีความลำบากในการเดินทางและค่าใช้จ่าย เพราะแค่ค่าเรือไปกลับก็ตก 900 บาทแล้ว ค่าโดยสารเข้าเมืองก็อีก 100 กว่า ไม่รวมค่ากินค่าที่พักบนฝั่งอีก จึงไม่ค่อยมีใครอยากไปกัน ดังนั้น หากมียาและเวชภัณฑ์มาสำรองยัง รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะก็จะช่วยให้การดูแลดียิ่งขึ้น” นายพงษ์ธร กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในการมาติดตามระบบยาภายในเกาะหลีเป๊ะ ก็พบว่า ทาง รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ อยากให้มียาคล้ายห้องฉุกเฉิน รพช.ขนาดเล็ก ใช้ระบบการรักษาทางไกล ภายใต้การปรึกษาของแพทย์ รพ.สตูล ซึ่งหากเรื่องยา อภ.ช่วยได้ก็พร้อมยินดี แต่เท่าที่ทราบคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีการประกาศนโยบายออกมาในเรื่องของเขตสุขภาพพิเศษ 4 ด้าน คือ 1.แรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี กทม. ระยอง และสมุทรปราการ 2.ด้านสาธารณสุขชายแดน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง น่าน สระแก้ว 3.ด้านพัฒนาสุขภาพระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ 4.ด้านสาธารณสุขทางทะเล 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ซึ่งอาจจะต้องดำเนินการให้เป็นเขตสุขภาพพิเศษทางทะเล เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ต่างออกไปจากพื้นที่ปกติ เพื่อให้เกิดการดูแลที่เหมาะสมกับพื้นที่มากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น