ศธ. เผยมี 40 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการพาร์ทเนอร์ สคูล ดึงเอกชน ประชาสังคม อุตสาหกรรม ท้องถิ่น ร่วมพัฒนาโรงเรียน ปรับปรุงหลักสูตร เตรียม MOU วันที่ 9 - 10 พ.ค.นี้ เริ่มปีการศึกษา 2561
วันนี้ (24 เม.ย.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพาร์ทเนอร์ สคูล (Partner School) หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพิจารณารายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีโรงเรียนเข้าร่วม 77 โรงทั่วประเทศ แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติพบว่า มีโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกในปีการศึกษา 2561 จำนวน 40 โรง ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และยังมีบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งที่แจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการในเฟส 2
“เฟสแรกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากทำสำเร็จจะนำไปขยายยังโรงเรียนอื่นๆ ในวันข้างหน้า โรงเรียนควรจะมีภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแลบำรุงรักษาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ ศธ.เป็นเจ้าภาพเพียงส่วนเดียว ซึ่งวิธีนี้ ศธ.คิดไว้อยู่แล้ว แต่ทำยาก เนื่องจากติดขัดเรื่องกฏระเบียบในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องคน เรื่องเงิน ดังนั้น หากเราสร้างต้นแบบนี้ขึ้นมาได้ ก็จะไปได้เร็ว เพราะต้องเรียนรู้ไปด้วย แก้ไขไปด้วย วิธีนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศจริง” รมช.ศธ.กล่าว
นพ.อุดม กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือการจัดทำแนวปฏิบัติ รวมถึงข้อตกลงของโรงเรียนและภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมจัดการศึกษาตามโครงการนี้จะต้องรับทราบว่า ใครรับผิดชอบอะไรและในส่วนใดในมิติต่างๆ โดยจะจัดทำเป็นคู่มือการดำเนินงานหรือไกด์บุ๊กเพื่อให้ทุกส่วนปฏิบัติตาม โดยแนวปฏิบัติในภาพรวมที่จะต้องทำเหมือนกันทุกแห่ง เบื้องต้นภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาโรงเรียน โดยเฉพาะหลักสูตร ซึ่ง 70% รัฐกำหนด ส่วนอีก 30% ภาคเอกชนสามารถปรับให้เข้ากับสิ่งที่เอกชนที่เข้ามาสนับสนุนต้องการ หรือปรับให้เป็นไปในทิศทางที่คณะกรรมการสถานศึกษากำหนดขึ้น ส่วนที่ภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องงบประมาณ ขอยืนยันว่า รัฐบาลยังคงสนับสนุนงบให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเดิมทุกอย่าง ส่วนทางภาคเอกชนจะท็อปอัปเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเรียน เช่น การจ้างครูพิเศษ หรือการจัดกิจกรรมพิเศษ หรือต้องการให้เงินท็อปอัปกับผู้อำนวยการโรงเรียน หรือครู ในแบบเงินพิเศษหรือเงินโบนัส ก็สามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ เหมือนเป็นเจ้าของโรงเรียน แต่ฐานเงินเดือนจะกำหนดให้เท่ากัน ดังนั้น เราจะเขียนข้อตกลงไว้ รวมถึงโรงเรียนต้องส่งผลการประเมินให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่ออยู่ในระบบการประเมินของ สพฐ.ด้วย
“ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 30 เมษายนนี้ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพาร์ทเนอร์ สคูล หรือโรงเรียนร่วมพัฒนา ก็จะนำวิดีโอ เกี่ยวกับการดำเนินงานและรูปแบบของโรงเรียน ที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ นำมาฉายเป็นรายงานให้นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ด้วย และในวันดังกล่าว ก็จะประกาศรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยในเฟสแรกมี จำนวน 40 โรงเรียน จากนั้น ประมาณวันที่ 9 - 11 พฤษภาคม จะนัดภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯมาลงนามความร่วมมือ หรือ MOU กับโรงเรียนทั้ง 40 แห่งโดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน” นพ.อุดม กล่าว