xs
xsm
sm
md
lg

การบริจาคเกล็ดเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ.พญ.กุลวรา กิตติสาเรศ
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีความจำเป็นต้องการใช้เกล็ดเลือดในการรักษาโรค ถ้ามีความประสงค์และสนใจร่วมบริจาคเกล็ดเลือดจะต้องทำอย่างไร และผู้บริจาคควรมีคุณสมบัติอย่างไร มารับทราบรายละเอียดกัน
เกล็ดเลือด เป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะทำให้เลือดแข็งเป็นลิ่ม และอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือดเวลาที่ถูกของมีคมบาด มีอายุในการทำงานประมาณ 7 วัน ถ้ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมากจะทำให้เลือดออกง่าย และมีหลายโรคที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น และรวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดในช่องอก ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีเลือดออกจนเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาด้วยเกล็ดเลือดอย่างทันท่วงที และยังไม่มีการรักษาอื่นใดในปัจจุบันที่สามารถทดแทนการรักษาโดยการให้เกล็ดเลือดได้
เกล็ดเลือดสามารถปั่นแยกจากการบริจาคเลือดทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วย 1 รายจะต้องการเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคเลือดทั่วไป 6 คนต่อการรับการรักษาด้วยเกล็ดเลือด 1 ครั้ง และเกล็ดเลือดมีอายุเพียง 5 วันเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนอกเหนือจากการบริจาคเลือดโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการบริจาคเลือดชนิดพิเศษซึ่งผู้บริจาคสามารถบริจาคเฉพาะเกล็ดเลือดได้ โดยจะต้องบริจาคผ่านเครื่องแยกเซลล์อัตโนมัติ โดยเครื่องจะแยกเกล็ดเลือด และนำไปเก็บในถุงเพื่อเตรียมให้ผู้ป่วย แล้วคืนส่วนประกอบของเลือดอื่น ๆ กลับคืนสู่ร่างกายของผู้บริจาคเลือด ดังนั้นจะได้เกล็ดเลือดที่มีความเข้มข้น โดยที่ผู้บริจาคสูญเสียเลือดปริมาณน้อย การบริจาคเกล็ดเลือดวิธีพิเศษนี้ เกล็ดเลือดจากผู้บริจาค 1 คนจะสามารถนำไปให้ผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดเลือดได้ 1 - 2 รายในการบริจาคเพียงครั้งเดียว หากผู้ป่วยได้รับเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคเพียงคนเดียวย่อมดีกว่า ซึ่งจะมีความปลอดภัยกว่าการได้รับจากหลายคนรวมกัน เพราะลดอัตราเสี่ยงการติดเชื้อและการเกิดปฏิกิริยาจากการรับเกล็ดเลือด เช่น มีไข้ หนาวสั่น
ผู้ที่ต้องการบริจาคเกล็ดเลือดจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนผู้บริจาคเลือดโดยทั่วไป กล่าวคือจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV และต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติม คือ ไม่ได้รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด วันที่มาบริจาคเกล็ดเลือดจะต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารมาก่อนโดยหลีกเลี่ยงอาหารมันซึ่งจะทำให้สีของเกล็ดเลือดผิดปกติได้ ผู้บริจาคเกล็ดเลือดจะได้รับการเจาะเลือดเหมือนกับการบริจาคเลือดทั่วไป แต่สายรองเลือดที่ต่อจากเข็มจะนำเลือดไปผ่านการปั่นในเครื่องแยกเซลล์อัตโนมัติแทนการต่อลงถุงตามธรรมดา ใช้ระยะเวลาในการบริจาคประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง บริจาคได้ทุก 2 - 4 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 24 ครั้งต่อปี และค่าเกล็ดเลือดไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
หลังการบริจาค เกล็ดเลือดของผู้บริจาคจะลดต่ำลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และกลับสู่ระดับเดิมของผู้บริจาคได้ภายใน 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในช่วง 24 ชั่วโมงแรกผู้บริจาคเกล็ดเลือดจะต้องปฏิบัติตัวเหมือนผู้บริจาคเลือดทั่วไป คือ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกแรงโดยใช้แขนข้างที่ถูกเจาะเลือดมา ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและอากาศร้อน หากรู้สึกผิดปกติให้รีบนั่งหรือนอนลง เพื่อลดอุบัติเหตุจากการหน้ามืดเป็นลม
ทั้งนี้ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเลือด สามารถบริจาคได้ที่ ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72 ปี ชั้น 3 รพ.ศิริราช ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น. หรือ วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 8081, 0 2419 7492 ต่อ 123, 128 นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่เป็นหมู่คณะให้บริการในวันเวลาราชการ โทร. 0 2419 8081, 0 2419 7492 ต่อ 110, 08 7944 0817
*************************************
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#จัดบรรยายส่งเสริมความรู้ในผู้สูงอายุ เรื่อง วัคซีน...จำเป็นหรือไม่ในวัยสูงอายุ พร้อมบริการตรวจวัดความดันโลหิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันที่ 18 เมษายน 2561 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ ห้อง 7008 ตึก สยามินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7805 , 0 2419 7700 , 0 2419 9197
#จัดนิทรรศการภาพถ่ายและประมูลภาพถ่ายจากแรงบันดาลใจ ครั้งที่ 3 วันที่ 12 – 22 พฤษภาคม 2561 ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช ขอเชิญผู้สนใจร่วมประกวดและชมนิทรรศการภาพถ่าย ในหัวข้อ “ยิ้ม” โดยส่งผลงานเข้าประกวดถึง 30 เมษายน 2561 ทาง e-mail: siriraj.fc@gmail.com หรือที่สำนักงานสภาอาจารย์ศิริราช (วันและเวลาราชการ) ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.si.mahidol.ac.th/th/sifc/ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7667, 0 2411 4457, 08 6362 4424


กำลังโหลดความคิดเห็น