xs
xsm
sm
md
lg

ไขทุกความข้องใจ รพ. HA รพ.คุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

การที่โรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสถานพยาบาล (Healthcare Accreditation : HA) หรือมาตรฐาน HA ย่อมเป็นเครื่องการันตีว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นมีคุณภาพ และมีความปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ประเมินในเรื่องนี้คือ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.

โดยเมื่อวันที่ 22-23 มี.ค.ที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ร่วมกับ สรพ. เพื่อดูงานพื้นที่ต้นแบบที่ จ.พังงา ซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งหมด 9 แห่ง ต่างผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA ชั้น 3 ทั้งหมดทุกแห่ง นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการ สรพ. ได้ช่วยไขทุกคำตอบของข้อข้องใจทั้งของประชาฃนและโรงพยาบาลเอง เกี่ยวกับการดำเนินการประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล ที่บอกเลยว่าปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดอยู่หลายเรื่อง

เริ่มจากเรื่องแรก โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลแล้วต้องรักษาดี จนไม่มีคนตายเลย

นพ.กิตตินันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บนั้นมีมาก บางส่วนของโรคสามารถควบคุมได้ บางส่วนก็ไม่สามารถควบคุมได้ ในกระบวนการรักษาจึงไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพแล้วจะต้องรักษาให้ไม่มีคนตายเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การประเมินคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลนั้น เป็นการประเมินว่าโรงพยาบาลมีกระบวนการการดำเนินการอย่างไร มียุทธศาสตร์อย่างไร มีกระบวนการจัดการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งแม้จะดำเนินการตามมาตรฐานการรักษาแล้ว แต่เรื่องของโรคภัยนั้นต้องยอมรับว่าบางอย่างมีความรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

ประเด็นถัดมา การประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาลมีความยุ่งยาก

นพ.กิตตินันท์ ระบุว่า การพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลมาตรฐาน HA เป็นการชวนโรงพยาบาลมาร่วมพัฒนาสถานพยาบาลทั้งองค์กรอย่างมีทิศทางและเป็นระบบ โดยอาศัยการรับรองเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ มีการประเมินและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่คุณภาพและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย อย่างในส่วนของภูมิภาคนั้น สรพ.พยายามให้ รพ.ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ HA แล้วเป็นแม่ข่าย ให้ รพ.ที่ยังไม่ผ่านการรับรองเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยการสร้างเครือข่ายในส่วนภูมิภาคที่เรียก “QLN” หรือ Quality Learning Network อย่าง รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ จ.พังงา หลังผ่าน HA แล้ว รพ.อื่นๆ ในจังหวัดสมัยก่อนก็รู้สึกว่าการผ่านเป็นเรื่องยาก จึงให้ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ เป็นแม่ข่าย QLN แล้วให้ชวน รพ.ที่อยู่ในจังหวัดที่มีความสนใจทำงานคุณภาพ มาทำงานเรียนรู้แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน โดย สรพ.จะมาสนับสนุนเสริมความเข้มแข็งของ QLN อีกทีหนึ่ง โดยจัดอบรมดูงาน เพื่อให้ QLN ในภูมิภาคช่วยเหลือประคับประคองเดินไปด้วยกันในระยะยาว

ทั้งนี้ รพ.ที่ต้องการเข้ารับการประเมิน HA นพ.กิตตินันท์ กล่าวอีกว่า รพ.แห่งนั้นๆ ต้องประเมินตัวเองเทียบกับมาตรฐานของ สรพ.ก่อน ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานเกิน 50% ขึ้นไปหรือไม่ หากคิดว่าน่าจะผ่านก็สามารถส่งแบบประเมินตนเองเพื่อไปขอประเมิน โดย สรพ.จะมีผู้เยี่ยมมาประเมินซ้ำอีกทีว่าสามารถผ่านได้ระดับนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งมาตรฐานนั้นแบ่งเป็น 4 ตอน รวม 30 บท เกือบ 300 ข้อ คือ

ตอนที่ 1 ว่าด้วยการนำองค์กร ประกอบด้วย ผู้นำมียุทธศาสตร์ ตั้งเป้าหมายสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย อย่างเรื่องของการร้องเรียนจากผู้ป่วย ในส่วนนี้จะชัดเจนคือ หากจัดระบบที่ถึงคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย วางเป้าหมายการพัฒนาให้ตรงตามต้องการ แต่ต้องยอมรับว่าความต้องการของคนเราสูงกว่าทรัพยากร ก็อาจเกิดการร้องเรียนขึ้น ก็ต้องวางระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนให้สอดคล้อง ว่าเราได้ข้อมูลมาชุดนี้ เอาเรื่องการร้องเรียนไปสู่การพัฒนาระบบอย่างไรให้ดีขึ้น

ตอนที่ 2 ระบบงานสำคัญของโรงพยาบาลว่า รพ.ไม่ใช่มีแต่การรักษา ระบบงานสนับสนุนการจัดบริการให้เป็นไปได้ เช่น ระบบเวชระเบียน ระบบยา ระบบแล็บ สิ่งแวดล้อมภายใน รพ. ภูมิทัศน์ การจัดการน้ำ ของเสีย และอัคคีภัย เป็นต้น

ตอนที่ 3 กระบวนการดูแลผู้ป่วยตั้งเข้ามาโรงพยาบาลจนจำหน่ายออก

และตอนที่ 4 ผลลัพธ์การรักษาพยาบาล ได้รับดีจริงหรือไม่ มีสถิติอะไรบ่งบอกว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“ส่วนใหญ่สิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ง่ายคือสภาพแวดล้อม ส่วนตัวกระบวนการดูแลผู้ป่วยจะสัมผัสยากกว่า แต่อย่างน้อยที่เห็นชัดคือ รพ.เอาใจใส่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความสะอาด การจัดบริการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกประชาชน เช่น ที่จอดรถ กระบวนการดูแลภายในโรงพยาบาล เช่น ปรับกระบวนการอย่างไรให้ประชาชนเสียเวลารอคอยน้อยลง กรอกเอกสารง่ายขึ้น ส่วนเรื่องที่สัมผัสยากกว่าคือผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยดีขึ้นแค่ไหนอย่างไร สรพ.จะเข้าไปช่วยประเมินผลแทนประชาชน” นพ.กิตตินันท์ กล่าว

ประเด็นที่สาม ข้อจำกัดของโรงพยาบาลและวิกฤตทางการเงิน ไม่สามารถทำโรงพยาบาลคุณภาพ HA ได้

นพ.กิตตินันท์ อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า ในเรื่องของมาตรฐาน ผู้เยี่ยมเราเข้าประเมินไม่ได้ดูแค่ตัวข้อความในมาตรฐาน แต่คำนึงถึงบริบทของโรงพยาบาลด้วย ยกตัวอย่างของโรงพยาบาลทั้งหมด 9 แห่งใน จ.พังงา ก็แทบจะเจอวิกฤตการเงินระดับ 7 ทั้งหมด แต่ก็สามารถผ่านการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล HA ได้ทั้งจังหวัด ยกตัวอย่าง รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ ที่มีทรัพยากรจำกัดมาก มาตรฐานเขียนว่าต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี ดังนั้น รพ.ก็เจอปัญหาช่วงต้นที่เข้าประเมิน HA ไม่มีทรัพยากรลงไป สรพ.ก็จะชวนให้ รพ.คิดว่า ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรมีทางออกอย่างไรบ้าง ที่จะสามารถระดมทรัพยากรจากทุกแหล่งมาปรับให้ดีขึ้น ซึ่ง รพ.ต้องอ่านมาตรฐานอย่างเข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

ด้าน นพ.มณฑิต พูลสงวน ผู้อำนวยการ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ เล่าว่า แม้โรงพยาบาลจะมีปัญหาเรื่องความขาดแคลน แต่การจะเข้ารับรองคุณภาพสถานพยาบาล ก็ได้รับการเรียนรู้จาก สรพ.ว่ามีหลายวิธีในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญคือ หนึ่งต้องมีใจที่จะดำเนินการ และสองได้รับความใส่ใจจากผู้บังคับบัญชา อย่างเช่น เรื่องของการไม่มียาในการบริการผู้ป่วย เพราะเป็นหนี้ค่ายากว่า 15 ล้านบาท ก็ปรึกษากับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แก้ปัญหาโดยการการหยิบยืมยากันในเครือข่ายก่อน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับคนไข้น้อยที่สุด แต่บางครั้งโรงพยาบาลทั้งหมดในจังหวัดก็ไม่มีเช่นกัน เราก็ต้องมีวิธีการแก้ปัญหา โดยการพูดคุยกับผู้ป่วยให้เข้าใจว่า จำเป็นต้องส่งไปรับยาจากข้างบนพื้นที่จังหวัดได้หรือไม่ คือเป็นการพัฒนาคุณภาพภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เรามี ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับการผ่านการรับรอง HA ซึ่งเรื่องวิกฤตทางการเงินไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำคุณภาพ

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา กล่าวว่า โรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งในจังหวัดผ่านมาตรฐานทุกแห่ง เป็น 1 ใน 8 ของประเทศที่ผ่านการรับรองทั้งจังหวัด โดยในปี 2561 จะมีการประเมินซ้ำ เพื่อกระตุ้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ทั้งหมด 7 แห่ง คือ รพ.พังงา รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ รพ.ทับปุด รพ.กะปงชัยพัฒน์ รพ.ท้ายเหมืองชัยพัฒน์ รพ.คุระบุรีชัยพัฒน์ และ รพ.บางไทร สำหรับผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนจากการทำ HA คือ การร้องเรียนน้อยมาก อย่างประจวบคีรีขันธ์มีประชากรมากกว่าพังงา 1 เท่า แต่กลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่าถึง 10 เท่า โดยที่จะพัฒนาต่อในอนาคตอาจเป็นเรื่องของการจัดทำระบบส่งต่อแล้วเข้ารับการประเมินระบบแบบทั้งจังหวัดในอนาคต

การประเมินคุณภาพสถานพยาบาล HA จึงถือเป็นการชวนให้ รพ.มาร่วมพัฒนาให้ระบบบริการมีคุณภาพ เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดำเนินการท่ามกลางข้อจำกัดของ รพ. บริหารทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ มีระบบป้องกันความเสี่ยง จึงสามารถพูดได้ว่า รพ. HA คือ รพ.คุณภาพ



กำลังโหลดความคิดเห็น