xs
xsm
sm
md
lg

สาวปมทุจริต “ทุนเสมาฯ” พบโอนเงินทุน นศ.พยาบาล-ค่าจ้างครูล่าช้าทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบช. แฉโอนเงินให้ นศ.พยาบาลทุนเสมาฯ ล่าช้าทุกคน มีเด็กร้องเรียนทุกปี จนต้องทวงถามกองทุนทุกครั้ง พบให้ล่าช้าตั้งแต่ 1 เทอม ไปจนถึง 1 ปี บางคนเรียนปี 4 จนจบแล้วก็ยังไม่ได้รับทุน ด้าน ร.ร. ร่วมแฉด้วยโอนเงินทุนเสมาฯ เป็นค่าจ้างครูล่าช้าทุกปีเช่นกัน

ดร.ปัทมา ทองสม รองผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษารับทุนจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งกระบวนการในขอและรับทุนของนักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยนั้น ต้องชี้แจงก่อนว่า ทางกองทุนฯ จะมีการกำหนดเงื่อนไขมาอยู่แล้วว่า ผู้รับทุนจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับทุนเสมาพัฒนาชีวิตต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว และทางกองทุนฯ ก็อยากให้เด็กที่เรียน ม.ปลาย และรับทุนอยู่แล้วได้มาเรียนพยาบาล จึงมีการกำหนดให้โควตาปีละ 50 คนมาเรียนกับทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ซึ่งก็จะกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทาง สบช. ก็จะรวบรวมรายชื่อเด็กที่ได้รับทุนส่งไปยังกองทุนฯ ว่าปีนี้มีใครบ้าง เรียนที่วิทยาลัยใด และให้เด็กเปิดบัญชีไว้ และรวบรวมแจ้งเลขที่บัญชีไปยังกองทุนในคราวเดียว

ดร.ปัทมา กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีโควตาสำหรับเด็กเรียนพยาบาลตามตะเข็บชายแดนที่ไม่เคยรับทุนดังกล่าวมาก่อนด้วยอีกจำนวนปีละ 30 คน ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับทางสภาการพยาบาล เนื่องจากเด็กเหล่านี้ไม่มีเงิน ก็มีการเจรจากับทางกองทุนฯ ซึ่งเขาก็ยินดีสนับสนุน ซึ่งก็ใช้กระบวนการเดียวกันคือรวบรวมรายชื่อนักศึกษาและเลขที่บัญชีให้แก่ทางกองทุนในการโอนเงินให้แก่นักศึกษา ซึ่งทางกองทุนจะโอนเงินไปที่บัญชีของเด็กโดยตรง ไม่ได้ผ่านกับทางวิทยาลัย หรือสถาบันพระบรมราชชนก

“ที่ผ่านมา เมื่อมีการโอนเงินให้นักศึกษาล่าช้า เด็กที่ไม่ได้เงินทุนเขาก็จะมาร้องว่ายังไม่ได้รับ ทาง สบช. ก็จะเป็นตัวกลางในการทำหนังสือแจ้งไปยังกองทุนฯ เพื่อทวงถาม โดยพบว่ามีเด็กมาร้องเช่นนี้ทุกปี และก็ได้รับเงินช้ากันทุกคน อย่างปกติเงินทุนที่ให้เด็กควรได้ตั้งแต่ต้นปี ผ่านไปแล้วเทอมหนึ่งก็ยังไม่ให้เงินเด็กเลย หรือบางปีพบว่าไม่มีการให้เงินทุนเด็ก แต่ไปทบให้อีกปีหนึ่ง หรือบางคนเรียนปี 4 แล้วก็ไม่ได้รับเงินทุน จนจบไปแล้วก็ยังไม่ได้ จนต้องมีการทวงถาม ซึ่งจากการที่เคยประสานเรื่องนี้ไปยังกองทุน ทางผู้ดำเนินงานก็บอกต้องเข้ากรรมการ ซึ่งเราก็ไม่ใช่เจ้าของกองทุนฯ ก็ไม่สามารถไปเร่งรัดอะไรได้ แต่หลังจากที่ทวงถามไปเขาก็จะทยอยโอนเงินทุนมาให้เด็ก ซึ่งก็จะได้รับครบตามจำนวนที่เด็กควรได้รับ” ดร.ปัทมา กล่าว

ด้าน นายณรงค์ ศิริเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชมณียเขต จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้เรียกข้อมูลการจ้างครูอัตราจ้างด้วยเงินงบประมาณของกองทุนเสมาฯ มาตรวจสอบ พบว่าโรงเรียนได้รับการโอนเงินมาคราวละ 1 ครั้ง ตามรอบปีงบประมาณ ซึ่งพบว่าโอนมาล่าช้าทุกปี ไม่เคยอยู่ในรอบปีงบประมาณ โดยส่วนใหญ่จะส่งมาในช่วง ก.ย. ซึ่งช่วงเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนแห่งนี้ก็เจอปัญหานี้มาตลอด ซึ่งโรงเรียนต้องรับภาระในการจัดหางบประมาณมาจ่ายเป็นค่าจ้างครูแทน ปัจจุบันมีครูอัตราจ้างที่ใช้เงินกองทุนเสมาฯ 1 ราย

“หลังทราบข่าวเรื่องนี้จึงได้ให้ฝ่ายการเงินของโรงเรียน นำเอกสารบัญชีมาตรวจสอบเพื่อรวบรวมข้อมูล ก็พบว่าโรงเรียนได้เงินส่วนนี้ล่าช้าทุกปี โอนในเดือน ก.ย. เป็นแบบนี้มาตลอด ที่ผ่านมาก็มีการสอบถามไปอยู่ และก็เคยสอบถาม ผอ.โรงเรียนอื่นๆ ก็พบว่า เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เงินจากกองทุนเสมาฯ ถือเป็นเงินบุญ เงินกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็ก เป้าหมายแต่แรกในการตั้งต้นกองทุนช่วยเหลือเด็กหญิงในภาคเหนือพ้นจากภาวะตกเขียว เมื่อครั้งผมเป็นครูผู้สอนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 ชัยนาท ประมาณปี 2544 ก็มีเด็กหญิงจากจังหวัดเชียงราย 10 คน มาเรียน และก็เป็นที่มาที่มีการนำเงินกองทุนมีการจัดสรรเงินเพื่อจ้างเด็กที่เรียนจบเหล่านี้ทำงานต่อเพื่อได้มีอาชีพ” นายณรงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น