เขตสายไหม - รมว.พม. วางศิลาฤกษ์สร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองอีก 280 หลัง รองรับชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว 7 ชุมชนในเขตสายไหม คาดแล้วเสร็จกลางปีนี้ เพิ่มจากที่สร้างเสร็จแล้ว 1,158 หลัง ใน 18 ชุมชน และกำลังสร้างอีก 1,224 หลัง พร้อมรื้อบ้านที่รุกล้ำคลองออกเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ กทม. จี้บริษัทรับเหมาเร่งตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอีก 5,000 ต้น
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) สร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ และให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในชุมชนเดิม กรณีที่มีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อน หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่รองรับนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และคณะ พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้เดินทางมาที่สถานที่ก่อสร้างบ้านมั่นคง ซอยพหลโยธิน 54/1 เขตสายไหม เพื่อเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างบ้านมั่นคงของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเลียบคลองสองสามัคคี จำกัด โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวชุมชนริมคลองเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน หลังจากนั้น พลเอก อนันตพร และคณะ ได้ลงเรือสำรวจชุมชนริมคลองสอง (คลองลาดพร้าว) เขตสายไหม และเยี่ยมเยียนชาวชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญหลายด้าน ซึ่งนโยบายการบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำคลองก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ เพราะปัจจุบันมีการปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลงไปในคลองจำนวนมาก โดยเฉพาะในคลองลาดพร้าวที่เป็นคลองระบายน้ำที่สำคัญในเขตกรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหาน้ำในคลองระบายไม่ทัน น้ำท่วมกรุงเทพฯ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้กรุงเทพมหานครสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำ และให้มีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ในลำคลองและบนที่ดินริมคลองของราชพัสดุออกไป โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
พลเอก อนันตพร กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน จึงให้ พอช. จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยรองรับ หากชุมชนใดอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ ก็จะต้องรื้อย้ายเพื่อสร้างบ้านใหม่ โดยเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุก เป็นผู้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ส่วนชุมชนใดที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอก็จะรวมตัวกันจัดหาที่ดินแปลงใหม่เพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่ เช่น ที่ชุมชนเลียบคลองสองสามัคคีที่กำลังสร้างบ้านอยู่ในขณะนี้ โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อและให้งบประมาณสนับสนุน ทำให้พี่น้องชาวชุมชนริมคลองมีบ้านใหม่ที่มั่นคง สวยงาม มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเมื่อสร้างบ้านใหม่เสร็จแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนต่อไป
นายประเวศร์ วัลลภบรรหาร ประธานสหกรณ์เคหสถานฯ กล่าวว่า สหกรณ์ฯ เกิดจากการรวมตัวของชาวชุมชนริมคลองสอง (คลองลาดพร้าว) ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 7 ชุมชน เช่น ชุมชนเลียบคลองสอง ชุมชนประชานุกูล ชุมชนสายไหมพัฒนา ชุมชนหลังซอยแอนเน็กซ์ ฯลฯ รวม 280 ครอบครัว โดยตัวแทนชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เนื่องจากชุมชนเดิมอยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อน ไม่สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ โดยจัดซื้อที่ดินบริเวณซอยจิระมะกร (พหลโยธิน 54/1) เขตสายไหม เนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งหมด 280 หลัง เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4X6 ตารางเมตร เริ่มก่อสร้างบ้านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะแล้วเสร็จทั้งโครงการ หลังจากนั้นทั้ง 7 ชุมชน จะรื้อย้ายบ้านเรือนเพื่อเปิดพื้นที่ให้ กทม.เข้าไปก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ และย้ายเข้ามาอยู่อาศัยที่นี่
สำหรับการสนับสนุนของ พอช. นั้น นายประเวศร์ กล่าวว่า พอช. สนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงสาธารณูปโภค ทั้งโครงการ รวม 21,500,000 บาท งบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาสรวม 20,160,000 บาท สินเชื่อสร้างบ้าน จำนวน 48,720,000 บาท และสินเชื่อที่ดิน จำนวน 43,680,000 บาท รวมทั้งหมด 134,060,000 บาท ส่วนราคาที่ดินและบ้านหลังละ 330,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,784 บาท ระยะเวลา 20 ปี ขณะที่ชาวบ้านได้ออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านครัวเรือนละ 1,500 บาทต่อเดือน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองลาดพร้าวในปี 2558 ในรูปแบบให้ชุมชนมีส่วนร่วม เช่น ร่วมออกแบบบ้านตามความต้องการ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบและบริหารงาน เช่น มีกรรมการฝ่ายบัญชี/การเงิน กรรมการตรวจสอบ กรรมการสืบราคา ตรวจสอบงวดงานก่อสร้าง ฯลฯ
ส่วนรูปแบบการสร้างบ้านจะมี 2 แบบ คือ 1. หากเป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ช่วงแรก 30 ปี (อัตราตารางวาละ 1.50 - 2.00 บาท/เดือน) หลังจากรื้อย้ายบ้านพ้นจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนแล้ว จะมีการปรับผังชุมชนใหม่ โดยแบ่งที่ดินก่อสร้างบ้านให้ทุกครอบครัวเท่ากัน เพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมได้ ขนาดบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4X6 และ 4X7 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้างบ้านประมาณหลังละ 250,000—350,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้างบ้านประมาณ 8 เดือน
2. หากอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมไม่ได้ ชาวชุมชนอาจรวมตัวกันไปหาที่ดินใหม่ (ซื้อที่ดินจากเอกชนในราคาที่ชุมชนสามารถรับภาระได้) แล้วก่อสร้างบ้านใหม่ เช่น ชุมชนเลียบคลองสองโซน 1, ชุมชนเลียบคลองสองโซน 2, ชุมชนเลียบคลองสองโซน 3 ซึ่งซื้อที่ดินและขณะนี้กำลังก่อสร้างบ้านใหม่ในเขตสายไหม (ขนาดบ้านประมาณ 4X8 ตารางเมตร โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านใหม่ ผ่อนชำระเดือนละประมาณ 2,500 - 2,800 บาท)
ทั้งสองกรณี พอช. จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โดยแยกเป็น 1. งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 50,000 บาท 2. อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย (สมทบปลูกสร้างบ้าน, ซื้อที่ดิน) ครัวเรือนละ 25,000 บาท 3. งบช่วยเหลือแบ่งเบาผู้ได้รับผลกระทบ (ค่าที่พักชั่วคราว,ลดภาระหนี้สินในการกู้เงินสร้างบ้าน ฯลฯ) ครัวเรือนละ 72,000 บาท 4. งบบริหารจัดการ ชุมชนละ 50,000 - 500,000 บาท 5. งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 330,000 - 360,000 บาท ชำระคืนภายใน 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อนั้น นายสมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีบ้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1,158 หลังใน 18 ชุมชน และกำลังก่อสร้าง จำนวน 1,224 หลัง พื้นที่พร้อมก่อสร้าง จำนวน 161 หลัง
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขณะนี้บริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทรับเหมาตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างเขื่อนไปแล้วประมาณ 18,123 ต้น จากเป้าหมายทั้งหมด 60,000 ต้น หรือคิดเป็นเนื้องานประมาณ 30.21 % ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานมาก เนื่องจากยังมีปัญหาประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำแนวคลองยังไม่ยอมรื้อย้ายบ้าน ดังนั้น กทม. จึงเร่งให้บริษัทรับเหมาตอกเสาเข็มในพื้นที่ที่มีประชาชนรื้อย้ายบ้านออกจากแนวคลองแล้วเพิ่มอีก 5,000 ต้นภายในเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว-คลองถนน - คลองสอง) และ คลองบางซื่อ จะเริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์คลองบางซื่อ อุโมงค์เขื่อนพระราม 9 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และลงสู่ทะเลต่อไป
รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน โดยบริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียร์ริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,465 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ 23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำในคลองลดลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วนคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ มีจำนวนบ้านที่ปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองทั้งหมด 6,841 หลัง ชุมชนที่รุกล้ำ 50 ชุมชน อยู่ในพื้นที่ 7 เขต คือ เขตวังทองหลาง ห้วยขวาง จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และ สายไหม ส่วนเป้าหมายในการสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งหมด (รวมครอบครัวขยาย) 7,081 ครัวเรือน