xs
xsm
sm
md
lg

สกศ. สำรวจเด็กไม่มีสัญชาติไทยเรียนใน จ.ตาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายปีที่ผ่านมาวัยแรงงานประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มาคนเดียว บ้างก็มากันทั้งครอบครัวมีลูกหลานมาพักอาศัยอยู่ในไทยด้วย บางรายมาแต่งงานคลอดลูกในไทย หรือมาทำงานเช้าเย็นกลับ และแม้ว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ เมื่อเด็กเติบโตถึงวัยเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำเด็กมาเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ รวมทั้งเด็กจะได้รับสิทธิด้านการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กไทย

เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ประกาศเรื่องการรับนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติไทยให้เข้าเรียนตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยหลักฐานการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 และล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 กรณีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ หรือเดินทางไป-กลับ บริเวณชายแดน หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่ต้นสังกัดกำหนด(G, P หรืออื่นๆ) นอกจากนี้ รัฐบาลมีโครงการทำฐานข้อมูลบิ๊กดาตา

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านแม่ตาวแพะ โรงเรียนบ้านหัวฝาย และศูนย์การเรียนรู้ปารมี พร้อมทั้งเยี่ยมบ้านนักเรียนด้วย โดยมีผู้บริหารสถานศึกษารายงานว่าเด็กที่มาเรียนโรงเรียนดังกล่าว 70-80%เป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย กลุ่มเด็กไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ เนื่องจากเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่ตามพ่อแม่มาทำงานและพักอาศัยอยู่ในไทย นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่มาเรียนแบบมาเช้าเย็นกลับ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมาร์ มาเรียนที่แม่สอด โดยจะมีรถรับส่งนักเรียน

นอกจากนี้ ยังได้ทราบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ยังไม่ได้เรียนหนังสือ และเด็กเรียนที่ศูนย์การเรียนของเอกชนกว่าหมื่นคน ถ้าหากให้เด็กมาเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ).หรือศูนย์ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) คงไม่สามารถรองรับได้และอาจจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น จะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมเสียก่อน จากนั้นค่อยดำเนินการ โดยเฉพาะช่วงพื้นที่ชายแดนที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งแนวโน้มจะมีแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น

"เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน จึงกำชับให้โรงเรียนจัดทำฐานข้อมูลเด็กให้ชันเจน หากเด็กคนไหนย้ายไปเรียนที่อื่น หรือไม่มาเรียนนานเป็นปี ก็ตัดชื่อออก เพื่อให้ได้ตัวเลขเด็กที่มาเรียนจริงๆ เพราะที่ผ่านมา ในส่วนของราชการไม่มีหน่วยงานไหนให้ข้อมูลได้ชัดว่ามีตัวเลขเด็กเท่าไหร่ เนื่องจากมีเด็กเข้าๆออกๆ คือย้ายตามพ่อแม่"

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สกศ.จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณา ว่าจากสภาพปัจจุบันถ้าจะทำให้ได้ตามนโยบายของ ศธ.ที่ให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนจะทำอย่างไร เช่น การลงทะเบียนเด็กทุกคน เพื่อใส่ในฐานข้อมูลบิ๊กดาตาของ ศธ.ทำยังไง จะมีรูปแบบในการที่จะจัดโอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างไร และจะมั่นใจในเชิงมาตรฐานคุณภาพอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันในหลายหน่วยงาน

ด้านนางศศิประภา อินริราย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ตาวแพะ เล่าให้ฟังว่า นักเรียนเกือบ 80% ไม่มีทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติไทย มาอยู่กับพ่อแม่ซึ่งมาทำงานภาคอุตสาหกรรม โดยรอบโรงเรียนมีอุตสาหกรรมถึง 4 แห่ง สำหรับการจัดการเรียนการสอนนั้น จัดตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารบ้างในเด็กเล็ก เพราะเด็กอยู่กับครอบครัวจะพูดพม่า หรืออังกฤษ อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจ้างครูพม่า ให้มาเป็นพี่เลี้ยงและล่าม คอยสื่อสารกับเด็กๆซึ่งปัญหานี้จะเกิดเฉพาะเด็กเล็กๆเท่านั้น เมื่อเด็กขึ้นชั้น ป.1 ก็สามารถสื่อสารอ่านเขียนไทยได้แล้ว

อีกหนึ่งปัญหาที่พบมีเด็กหลายรายมักจะย้ายตามพ่อแม่ และไม่มาเรียน โดยไม่มีการแจ้งว่าย้ายไปเรียนไหน หรือกลับเมียนมาร์ จึงไม่ได้ตัดชื่อเด็กออก ซึ่งตามระเบียบต้องรอเวลาปี หรือ 2 ปี คือให้มั่นใจว่าเด็กไม่มาเรียนถึงจะดำเนินการตัดชื่อได้

นายประกาศิต คำสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวฝาย กล่าวเสริมว่า มีปัญหาคล้ายๆกัน เรื่องการสื่อสาร แต่ก็ขจัดปัญหานี้ได้ และติดความรู้ด้านวิชาการให้แก่เด็ก เพิ่มทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ส่งเข้าร่วมแข่งขันตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เด็กกล้าแสดงออก อันที่จริงเราจะเน้นทักษะการสื่อสารให้เด็ก 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ พม่า เพราะมีแนวคิดว่ามีความรู้หลายภาษาจะช่วยให้เด็กเรียนจบ ป.6 ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น แล้วเมื่อเติบโตยังนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ด้วย

ส่วน นายหร่ายมิน ในฐานะพ่อเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ร.ร.บ้านหัวฝาย กล่าวว่า ตนไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วเข้ามาทำงานในไทยกว่า 30 ปี พอมีลูกจึงอยากให้ลูกเรียนสูงๆ ตั้งเป้าจะส่งให้เรียนจนจบปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณทางโรงเรียน รัฐบาลไทย ที่เปิดโอกาสให้เด็กไม่มีทะเบียนราษฎร์ได้เข้าเรียน ยังมีอาหารกลางวัน นม ชุดนักเรียน เหมือนเด็กสัญชาติไทย สิ่งเหล่านี้ผมสอนให้คนในครอบครัวสำนึกบุญคุณแผ่นดินไทย

ด้าน วิลลี่ นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนสรรพวิทยา เล่าว่า ตนเดินทางมาเรียนแบบมาเช้าเย็นกลับพม่า พร้อมตั้งเป้าหมายว่าเรียนจบ ม.6 จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะบริหาร เพราะต้องการนำความรู้มาต่อยอดธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าบริโภคอุปโภคของครอบครัว

...ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรม จะต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าอย่างเป็นระบบ











กำลังโหลดความคิดเห็น