xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจตลาด 7 แห่ง “บางกอกน้อย” พบ “ตลาดศาลาน้ำร้อน” ไม่ได้ขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. ตรวจเข้มตลาด 7 แห่งย่าน “บางกอกน้อย” พบขออนุญาตจัดตั้งถูก กม. 6 แห่ง เว้นตลาดศาลาน้ำร้อน เหตุเดิมตั้งในพื้นที่การรถไฟฯ ทำให้ไม่ได้ขอจัดตั้งต่อ กทม. แนะนำให้ปรับปรุงยื่นขอใบอนุญาตแล้ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจด้านสุขาภิบาล

วันนี้ (26 ก.พ.) นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจตลาดในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ว่า ภายหลังจากที่มีปัญหาเรื่องตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบความเรียบร้อยและการขออนุญาตจัดตั้งตลาด ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบตลาดในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ซึ่งมีตลาดทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ ตลาดบางขุนศรี ตลาดพรานนก ตลาดศาลาน้ำเย็น ตลาดนครหลวง ตลาดบางกอกน้อย ตลาดอรุณอมรินทร์ และ ตลาดศาลาน้ำร้อน จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ประกอบกิจการได้ดำเนินการขอใบอนุญาตจัดตั้งตลาดอย่างถูกต้อง 6 ตลาด ส่วนอีก 1 ตลาด อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจัดตั้งตลาด คือ ตลาดศาลาน้ำร้อน หรือ ตลาดรถไฟ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลศิริราช เป็นตลาดเอกชนเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลายาวนาน

“การจัดตั้งตลาดแห่งนี้ แต่เดิมในสมัยก่อนได้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากตลาดตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงไม่ได้มีการขออนุญาตจัดตั้งตลาดจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนี้ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงและขอใบอนุญาตจัดตั้งให้ถูกต้องตามระเบียบต่อไป” นายพิชญา กล่าว

นายพิชญา กล่าวว่า สำหรับการขอใบอนุญาตจัดตั้งตลาด จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 มีโครงสร้าง และประเภทที่ 2 ไม่มีโครงสร้าง ซึ่งใบอนุญาตจัดตั้งตลาดประเภทที่ 1 มีโครงสร้างอาคาร จะมีส่วนประกอบของสถานที่และสิ่งปลูกสร้าง สำหรับผู้ขายของ ที่ขนถ่ายสินค้า ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่รองรับขยะมูลฝอย และที่จอดยานพาหนะ นอกจากนี้ หากมีศูนย์อาหารภายในตลาด จะต้องมีใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนเขตฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลลงพื้นที่ทำการสุ่มตรวจ สำรวจด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมตลาด ที่กำหนดใบแบบประเมินไว้ 66 ข้อ เช่น ถนนโดยรอบตลาดกว้างไม่น้อยกว่า 4 เมตร ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน ตลอดจนผู้ขายของต้องได้รับการตรวจสุขภาพ ตามที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขกำหนด สำหรับด้านสุขอนามัย เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างอาหารสด เช่น หมู ไก่ เพื่อส่งเข้าห้องแล็บ ตรวจสอบสารปนเปื้อน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากตรวจพบผู้ค้าต้องระงับการขายทันที




กำลังโหลดความคิดเห็น