xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เจ็บอีกต่อไป! เครื่อง CT “มะเร็งเต้านม” ได้ภาพ 3 มิติ ละเอียด แบบไม่ต้องบีบเต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

การตรวจคัดกรองค้นหา “มะเร็งเต้านม” ได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้สูง ซึ่งการตรวจคัดกรองมีหลายวิธี ทั้งการคลำเต้านมด้วยตนเองเพื่อหาความผิดปกติ การทำแมมโมแกรม และการอัลตราซาวนด์ เป็นต้น

ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี บุญยืนเวทพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวินิจฉัยรังสีโรคเต้านม ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีความสำคัญมาก เพราะหากตรวจพบเจอไวก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว และยิ่งตรวจเจอตั้งแต่ระยะแรก โอกาสรักษาหายขาดสูงมาก แต่ปัญหาคือคนกลุ่มเสี่ยงกลับไม่ยอมมาตรวจคัดกรอง เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.กลัวตรวจแล้วเจอ ซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิด และ 2.กลัวความเจ็บ จากการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งจะต้องมีการบีบเต้า เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนและครอบคลุมมากที่สุด

ความขึ้นชื่อเรื่องของความเจ็บจากการทำแมมโมแกรมนี้เอง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณผู้หญิงทั้งหลายไม่มาตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งบางรายก็ล่อยจนโรคลุกลาม อย่างไรก็ตาม ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้นำ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม (Cone-beam Computerized Tomography) มาใช้ในการตรวจคัดกรองและตรวจติดตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้

ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าวว่า ข้อดีของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมคือ เป็นเครื่องที่สามารถสร้างภาพสามมิติของเต้านมออกมาได้ และมีความละเอียดสูง สามารถค้นหาความผิดปกติของมเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มหรือเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ยากต่อการมองเห็นหรือยากต่อการตรวจด้วยวิธีอื่น ที่สำคัญการตรวจไม่ต้องมีการบีบเต้าเพื่อตรวจเหมือนอย่างการตรวจด้วยแมมโมแกรม ดังนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจึงไม่ต้องกังวลว่าจเจ็บปวดจากการตรวจ

“การใช้งานเครื่องดังกล่าว เพียงแค่ผู้ป่วยนอนคว่ำลงบนเครื่อง ซึ่งจะมีช่องตรงกลางตรงตำแหน่งเต้านม เมื่อผู้เข้ารับการตรวจนอนลงเต้านมก็จะเข้าไปในช่องดังกล่าว โดยตัวเครื่องจะมีหลอดเอกซเรย์อยู่ด้านล้าง เมื่อสั่งการเครื่องให้ตรวจ เครื่องก็จะหมุนถ่ายเฉพาะเต้านมออกมาเพียงอย่างเดียว เรียกได้ว่าเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เฉพาะการตรวจเต้านมเลย ไม่สามารถตรวจอย่างอื่นได้ โดยความพิเศษคือเมื่อถ่ายภาพออกมา 1 ภาพ เครื่องจะมีการวิเคราะห์ และสร้างภาพเต้านมในมุมมองอื่นขึ้นมา ทั้งภาพตรงข้าม ภาพตัดขวาง ภาพด้านข้าง รวมไปถึงทำเป็นภาพสามมิติที่สามารถเคลื่อนไหวได้ เห็นได้ทุกมุมทุกองศา” ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าว

ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าวว่า ในการตรวจใช้เวลาน้อยมาก ประมาณเพียง 10 วินาทีเท่านั้นก็แล้วเสร็จ ผู้ป่วยยังไม่ทันรู้สึกตัวด้วยซ้ำ จะเห็นได้ว่าแค่ผู้ป่วยนอนอย่างเดียวไม่ต้องมีการบีบเต้าให้เกิดความเจ็บแต่อย่างใด แต่การตรวจวินิจฉันจำเป็นต้องใช้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการอ่านวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ ซึ่งทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถก็มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการวินิจฉัย

นอกจากเรื่องของความสบายที่ไม่ต้องเจ็บปวดจากการบีบเต้าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมก็ยังมีความละเอียดมากกว่า เพราะสามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งแม้จะยังมีขนาดเล็กอยู่ก็ตาม

ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าวว่า ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะแรก ซึ่งก้อนยังมีขนาดเล็กอยู่นั้น หากเป็นการตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น แมมโมแกรม จะยังมีโอกาสพลาดสูง เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงไทยมีเต้านมที่เข้มจากการที่มีต่อมนมเยอ ทำให้การวินิจฉัยมเร็งเต้านมในระยะแรกมีโอกาสพลาดไม่ต่ำกว่า 50% จึงมักต้องมีการอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย

“แต่จากการนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ ซึ่งรวมแล้วหลายร้อยรายก็พบว่า เมื่อตรวจผู้ป่วยด้วยวิธีการอื่น เช่น แมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ ไม่พบ แต่เมื่อตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมก็สามารถพบได้ อย่างบางรายตรวจเจอระยะแรกตั้งแต่ก้อนอยู่ในท่อนม ทำให้มีความมั่นใจว่าเครื่องดังกล่าวสามารถช่วยตรวจคัดกรองในระยะแรกเริ่มได้เป็นอย่างดี ไม่เจ็บ ง่าย และมีความรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องตรวจควบคู่กับการทำอัลตราซาวนด์ไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด” ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าว

นอกจากการตรวจคัดกรองแล้ว ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าวว่า ยังใช้เครื่องดังกล่าวในการตรวจติดตามผู้ที่เป็นมะเร็งอยู่แล้วด้วย ซึ่งการรักษาก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งการที่เครื่องดังกล่าวตรวจได้อย่างละเอียดนั้นก็จะช่วยทำให้แน่ใจว่าในผลการรักษาว่าเป็นอย่างไร

สำหรับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง CT Scan ทั่วไปนั้น ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี อธิบายว่า โดยปกติจะไม่มตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง CT Scan ทั่วไป เนื่องจากเป็นเครื่องที่ตรวจทั้งร่างกาย จึงไม่นำมาตรวจเฉพาะจุด ซึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมแล้ว ก็จมีะความละเอียดน้อยกว่า แต่ที่ผ่านมามีการตรวจเจอบ้าง เนื่องจากเมื่อตรวจแล้วและมาดูในส่วนของปอดแล้วพบความผิดปกติ แต่ความละเอียดจน้อยกว่าเครื่องตรวจโดยเฉพาะ

ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี กล่าวว่า สำหรับบุคคลที่ควรตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมคือ บุคคลที่มีความเสี่ยงในการเป็นมเร็งเต้านม ทั้งผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยมะเร็งเต้านม หรือมีความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ยังเล็ก ก็สามารถตรวจค้นหาคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดังกล่าว เพื่อให้พบเจอตั้งแต่ระยะแรกได้ อย่างไรก็ตาม เครื่องดังกล่าวถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง แม้จะได้รับมาจากเงินบริจาคก็ตาม แต่การตรวจด้วยเครื่องนี้ก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้แพงมาก คือคิดเพียงแค่ค่าดำเนินการต่างๆ ไม่ได้คิดค่าต้นทุนของเครื่อง โดยค่าตรวจอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะได้รับการตรวจทั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมและตรวจอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย ซึ่งหากเทียบแล้วการตรวจแมมโมแกรมก็มีราคา 2,200 บาท และยังต้องตรวจอัลตราซาวนด์เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมแล้ว ในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมของศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถยังมีอีกหลายเครื่องมือ โดย ศ.กิตติคุณ พญ.ดรุณี รบุว่า ยังมีทั้งเครื่องแมมโมแกรมสามมิติ พร้อมฉีดสารทึบรังสี นับเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยที่สามารถระบุพิกัดของจุดที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังติดตั้งเตียงระบุพิกัดด้วยระยยสามมิติที่สามารถระบุตำแหน่งความผิดปกติในเต้านมด้วยระบบสามมิติในท่านอน เพื่อใช้ในการเจาะชิ้นเนื้อและวางลวดนำ เพื่อระบุตำแหน่งในการผ่าตัดเต้านมได้อย่างมีประสิทธฺภาพ สามารถลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวลของผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี รวมถึงเครื่องตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับเต้านม เครื่องเดียวของประเทศไทย และเครื่องตรวจเต้านมด้วยรังสีอินฟาเรด ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยการวัดอุณหภูมิต่างๆ ของเต้านมที่ลเอียดที่สุดเครื่องแรกของประเทศไทย เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้กล้องตรวจพบบริเวณที่มีเซลล์แปลกปลอมได้ก่อนกลายเป็นก้อนมะเร็ง ไม่มีการบีบเต้านมเช่นกัน ไม่สัมผัสรังสีเอกซเรย์แลไม่ใช้การฉีดยา โดยใช้ร่วมกับเอกซเรย์เต้านมแลอัลตราซาวนด์ในการวินิจฉัยก้อนที่เต้านม

นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเจ็บ ง่าย และรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัย หากมีความเสี่ยงควรรีบเข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ หากพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูง ดีกว่ามารักษาตอนที่โรคลุกลามขึ้นมากแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น