ปลัด สธ. ชี้ ฆ่าตัวตายกว่า 50% มาจากโรคซึมเศร้า แต่สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น แนะสังเกตอาการคนใกล้ชิด หากผิดปกติให้พูดคุยทันที ป้องกันการฆ่าตัวตาย ประชาชน สามารถปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สายด่วน
จากกรณี พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เขียนจดหมายลาตายคัดค้านโครงการรถไฟรางคู่ 1.000 เมตร และ รถไฟฟ้ายกระดับ พร้อมเรียกร้องถนนออโต้บาห์น ก่อนกระโดดตึกจากชั้น 7 ของในศูนย์การค้าย่านแจ้งวัฒนะ เพื่อจบชีวิตตนเอง โดยบุตรชายระบุว่าบิดาป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานหลายปี
วันนี้ (26 ก.พ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข่าวการฆ่าตัวตายทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสังเกตความผิดปกติของผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้องรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากพบว่ามีการพูดในทำนองสั่งเสีย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย เป็นเพื่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา แต่หากไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ทันที รวมทั้งขอให้ทุกคนสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดสะสมหรือไม่ เช่น วิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ และหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับคนใกล้ชิด เป็นต้น หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ แอปพลิเคชันสบายใจ Sabaijai
นพ.เจษฎา กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 50 ที่พบว่ามาจากโรคซึมเศร้า คาดว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต จัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40 ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการว่า มีแนวโน้มลดลง ได้ใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งจะช่วยลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300 - 400 คนต่อปี
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยไม่ได้พบเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยของผู้ป่วยยังคงอยู่ที่ 1.5 ล้านคน เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้เวลานานในการรักษา ขณะที่ทุกสาเหตุของการฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องมาจากการป่วยโรคซึมเศร้า เพียงแต่ร้อยละ 50 ของฆ่าตัวตายมาจากซึมเศร้า ส่วนสาเหตุที่มักเป็นข่าว หรือได้รับความสนใจตามหน้าสื่อ เพราะคนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ส่วนอาการป่วยหรือไม่ต้องให้ญาติเป็นผู้เปิดเผย สำหรับคนที่มีอาการป่วยซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตาย จะแสดงอาการอย่างน้อย. 2 สัปดาห์ และภาวะความคิดลบ เปรยหาทางออกไม่เจอ และยังอยู่ในช่วงคิด หรือหาวิธีการฆ่าตัวตาย
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับรูปแบบของการฆ่าตัวตาย มักเป็นการใช้ประสบการณ์การความคิดของตนเองเป็นหลัก จากข้อมูลของไทย พบว่า การทำอัตวินิบาตกรรม ของผู้ป่วยซึมเศร้าใช้ แขวนคอตาย, ใช้สารเคมี, อาวุธ และกระโดดที่สูง ซึ่งเป็นความคิดชั่ววูบ แค่ไม่นาน ดังนั้น หากพบผู้ที่มีอาการวิตกกังวล เครียด หาทางออกไม่เจอ บ่นอยากฆ่าตัวตาย มีความคิดเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย หดหู่ ก็ควรพบจิตแพทย์ทันที