xs
xsm
sm
md
lg

กิน “นมเปรี้ยว” มีโพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมฤทธิ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันโภชนาการวิจัยพบ กิน “นมเปรี้ยว” ที่มีโพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมฤทธิ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระบุคนภูมิคุ้มกันต่ำช่วยให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น แต่หากภูมิคุ้มกันสูงอยู่แล้วจะไม่เห็นผล

วันนี้ (22 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวผลการศึกษาโครงการวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลของนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์คือ จุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส พาราคาเซอิ 431 ต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ ว่า มาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ การให้วัคซีน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 ชนิด คือ ชนิด A H1N1 ชนิด A H3N2 และไวรัส B อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันไม่สูงนัก เนื่องจากพบว่าการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดียับยั้งการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอไม่ดีนัก และประชากรบางส่วนไม่มีการสร้างแอนติบอดีหรือสร้างได้ในระดับต่ำ จึงต้องหาแนวทางเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งโพรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พบได้ในอาหารหลายชนิดทั้งโยเกิร์ต นมเปรี้ยว และเนยแข็ง เป็นต้น สามารถช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย สถาบันโภชนาการ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล จึงได้ทำการศึกษาวิจัยดังกล่าว

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า การวิจัยในครั้งนี้เป็นการทดลองทางคลินิก ซึ่งผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในคนชุดกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำการวิจัยในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี อายุ 18-45 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มหนึ่งจะได้รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ อีกกลุ่มได้รับนมแต่งกลิ่นที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ ซึ่งแบ่งกลุ่มโดยการสุ่มแบบปิด คืออาสาสมัครจะไม่ทราบว่าตนเองอยู่กลุ่มใด โดยให้รับประทานนมเปรี้ยวตามกลุ่มเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 ครั้ง โดยศูนย์แพทย์กาญจนาภิเษก จากนั้นจึงรับประทานนมเปรี้ยวตามกลุ่มต่อเนื่องอีก 4 สัปดาห์ ระหว่างนี้อาสาสมัครทุกคนงดรับประทานอาหารอื่นที่มีโพรไบโอติกส์ สำหรับการเจาะเลือดเพื่อวัดภูมิคุ้มกันนั้น จะตรวจตั้งแต่ก่อนรับนมเปรี้ยว หลังรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ก่อนฉีเวัคซีน หลังรับนมเปรี้ยว 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน และหลังหยุดนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ โดยส่งตรวจที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดลด้วยเทคนิค Hemagglutination Inhibition (HI) ซึ่งห้องปฏิบัติการจะไม่ทราบว่าอาสาสมัครแต่ละรายอยู่กลุ่มใด และเมื่อส่งผลกลับมานักวิจัยสถาบันโภชนาการได้ทำการวิเคราะห์ทางสถิติ โดยผู้วิเคราะห์ไม่ทราบว่าอาสาสมัครรายใดได้รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์

“ผลการวิจัยพบว่า ก่อนรับประทานนมเปรี้ยวอาสาสมัครมีค่าภูมิคุ้มกันคละกันไป ทั้งภูมิคุ้มกันต่ำ คือ ค่า HI น้อยกว่า 40 และคนที่มีภูมิคุ้มกันสูง ส่วนการดื่มนมเปรี้ยวก่อนรับวัคซีนพบว่าไม่มีผลอะไรต่อภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อผลการตรวจหลังรับวัคซีนร่วมกับรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ พบว่า มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ต่อเชื้อ H1N1 และ H3N2 สูงกว่ากลุ่มที่รับนมที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ นอกจากนี้ สำหรับเชื้อ H3N2 พบว่า คนที่มีภูมิอยู่แล้ว การรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยอัตราการตอบสนองต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ส่วนไวรัส B นั้นอาสาสมัครมีการตอบสนองต่อวัคซีนไวรัส B สูงอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับหรือไม่ได้รับโพรไบโอติกส์ โดยสรุปการวิจัยในครั้งนี้ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ว่า โพรไบโอติกส์จะช่วยเสริมฤทธิ์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันก็ต่อเมื่อคนนั้นมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่แล้วก็จะไม่เห็นผล” ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวและว่า งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Functional Food ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เผยแพร่งานวิจัยด้านอาหารสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาสาสมัครที่รับนมเปรี้ยวร่วมกับการฉีดวัคซีนทั้ง 3 ชนิดมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นทั้งหมดในอัตราเท่าไหร่ ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 ที่รับนมเปรี้ยวไม่มีโพรไบโอติกส์ มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ถึงร้อยละ 60 แต่กลุ่มที่รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าร้อยละ 80 ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนที่ต่อต้านเชื้อ H3N2 ที่รับนมเปรี้ยวแบบไม่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่หากรับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์จะมีอัตราการตอบสนองหรือการสร้างภูมิคุ้มกันสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์  แต่น่าสนใจว่า สำหรับกลุ่มที่ก่อนฉีดวัคซีนไม่มีภูมิคุ้มกัน และเมื่อรับนมเปรี้ยวและฉีดวัคซีน จะมีภูมิเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จะได้ผลดีกับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ส่วนชนิด B พบมากในประเทศไทย ซึ่งการฉีดวัคซีนอย่างเดียวค่อนข้างได้ผลดี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับโพรไบโอติกส์ก็ไม่แตกต่างมาก แสดงว่ากลุ่มนี้มีภูมิมาก่อน จึงเสริมกับผลการศึกษาที่เป็นไปได้ว่า หากมีภูมิคุ้มกันก่อนอาจไม่สร้างเพิ่มมากนัก แต่หากไม่มีภูมิคุ้มกันจะช่วยเพิ่มภูมิใหม่ได้ดีกว่า

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า สำหรับการพิจารณารับประทานนมเปรี้ยวว่าแบบใดที่มีโพรไบโอติกส์นั้น สามารถสังเกตได้ที่ฉลาก เนื่องจากเป็นข้อบังคับของ อย.อยู่แล้วว่าหากมีการใส่จุลินทรีย์ต้องมีการระบุว่าใส่จุลินทรีย์ชนิดใด ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแลคโตบาซิลลัส โดยนมเปรี้ยวแบบขวดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสอยู่แล้ว แต่นมเปรี้ยวแบบกล่องยูเอชที เนื่องจากผ่านกระบวนการก็จะทำจุลินทรีย์นั้นตาย ทั้งนี้ การรับประทานนมเปรี้ยวที่โพรไบโอติกส์มีข้อควรระวัง เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์มีชีวิต ทำให้มีความเสี่ยงก่อการติดเชื้อโรคได้ โดยไม่ควรใช้ในผู้ป่วยหนัก เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยเอดส์ระยะแสดงอาการ และทารกแรกเกิด


กำลังโหลดความคิดเห็น