xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ยันรับ ม.1 ต้อง 40 คนต่อห้อง ขึ้น ม.4 เปิดโอกาสขยายห้อง-จำนวน นร.ได้ตามจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพฐ. ย้ำ รับ นร.ม.1 ปีการศึกษา 61 ต้อง 40 คนต่อห้อง ส่วน ม.3 ขึ้น ม.4 เปิดช่องโรงเรียนทำแผนเสนอขยายห้องเรียน - จำนวนนักเรียนต่อห้องได้ตามจำเป็น ครอบคลุมทั้งโงเรียนแข่งขันสูงและทั่วไป คาดอาจยืดหยุ่นได้ถึงปีการศึกษา 63 ลั่นปี 64 ไม่มีปัญหาอีก

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดจำนวนนักเรียนปี 2561 โดยก่อนประถมศึกษาจำนวน 30 คนต่อห้อง มัธยมศึกษาจำนวน 40 คนต่อห้อง ทำให้นักเรียนผู้ปกครองเกิดความกังวลในการไม่ได้เรียนต่อหรือถูกคัดออก

วันนี้ (21 ก.พ.) ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) วาระพิเศษ มีการหารือในประเด็นดังกล่าว โดย นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติ ว่า ในปีการศึกษา 2561 การรับนักเรียนชั้น ม.1 ให้ยึดตามหลักเกณฑ์ 40 คนต่อห้อง ส่วนช่วงรอยต่อนักเรียนชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ซึ่งมีปัญหานักเรียนจะถูกคัดออกจำนวนมากก็เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีเหตุผลและความจำเป็นไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ ให้ทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขอขยายห้องเรียน หรือเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา จากนั้นให้ไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการรับนักเรียนของเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดอยู่

นายบุญรักษ์ กล่าวว่า การยืดหยุ่นดังกล่าวให้รวมไปถึงโรงเรียนทั่วไปด้วย ไม่เฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เนื่องจากหากเด็กล้นจากโรงเรียนแข่งขันสูงจำเป็นต้องไปอยู่โรงเรียนใกล้เคียง ซึ่งถ้าเด็กไปเป็นจำนวนมากอาจจะเกินห้องละ 40 คน ก็จะปฏิบัติตามระเบียบไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น จึงให้ปรับแผนรองรับไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพฐ.ได้ย้ำว่า การรับนักเรียนต้องคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยในห้องเรียนด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละห้องเมื่อขยายแล้วต้องไม่เกิน 50 คน  สำหรับปีการศึกษา 2562 และ 2563 ที่ยังมีนักเรียน ม.ต้นค้างท่อ จะมีการหารือกันอีกครั้ง แต่หากจำเป็นต้องยืดหยุ่นจนเด็กรุ่นนี้จบ ม.ต้น ก็จะสามารถยืดหยุ่นได้ถึงปีการศึกษา 2563 ส่วนปีการศึกษา 2564 ปัญหานี้จะไม่มีอีก เพราะนักเรียนที่เข้าเรียน ม.1 ในปีการศึกษา 2561 จะล็อกจำนวนอยู่ที่ 40 คนต่อห้องอยู่แล้ว

“มตินี้เป็นการแก้ปัญหาช่วงรอยต่อเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในอนาคตการลดจำนวนนักเรียนลงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกิดคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน และสิ่งที่ดำเนินการหลังจากนี้อีก 2 เรื่อง คือ การวางแมปปิง (Mapping) เพิ่มจำนวนโรงเรียนเนื่องจากการขยายตัวของเมืองทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น การเดินทางสะดวกสบาย ซึ่งต้องมีการวางแผนรองรับโดยอาจจะตั้งโรงเรียนเพิ่ม หรือขยายอาคารเรียน หรือเพิ่มห้องเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ กพฐ. ยังเสนอให้เร่งดำเนินการทำโรงเรียนคู่พัฒนาโดยให้โรงเรียนแข่งขันสูง 282 โรงไปจับคู่โรงเรียนใกล้เคียงในการพัฒนาคุณภาพควบคู่กัน โดยให้เริ่มดำเนินการทันที” นายบุญรักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น